เรื่องราวของวีรสตรีทางการเมือง ในคัมภีร์อัลกุรอาน
Powered by OrdaSoft!
No result.

เรื่องราวของวีรสตรีทางการเมือง ในคัมภีร์อัลกุรอาน

"บิลกีส บินติชะรอฮีล" [1] คือชื่อของสตรีคนหนึ่งที่ในคัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวขานถึงนางในนาม “ราชินีแห่งซะบะอ์” (เยเมน) ผู้คนในดินแดนแห่งนี้เป็นผู้เคารพบูชาดวงอาทิตย์ [2] นางเป็นสตรีที่มีอำนาจและเป็นผู้ร่ำรวยมั่งคั่ง [3]

     คัมภีร์อัลกุรอาน ได้เล่าถึงเรื่องราวของสตรีทางการเมืองผู้นี้ไว้อย่างละเอียด เคียงคู่กับเรื่องราวของเหล่าบุรุษผู้เรืองอำนาจ อย่างเช่น นัมรูด (นิมโรด) ฟิรเอาน์ (ฟาโรห์) และกอรูน (โคราห์) และจากเรื่องราวดังกล่าวนี้มีประเด็นที่เป็นแง่คิดที่น่าสนใจอยู่มากมาย :

     ท่านศาสดาสุไลมาน (อ.) หรือซาโลมอน หลังจากที่ได้ทราบข่าวจาก “ฮุดฮุด” (นกหัวขวาน) ถึงการมีอยู่ของดินแดนแห่งนี้ ท่านก็ได้ปฏิบัติเช่นเดียวกับศาสดาท่านอื่น ๆ ของพระผู้เป็นเจ้า ที่ได้ประกาศเชิญชวนบรรดาผู้ปกครองของเมืองทั้งหลายมาสู่การยอมรับต่อศาสนาของพระผู้เป็นเจ้าและเตือนพวกเขาจากการละเมิดฝ่าฝืนต่อพระองค์ [4]

     ราชินีแห่งซะบะอ์แตกต่างจากนิมโรดและฟาโรห์ โดยที่นับตั้งแต่เริ่มต้น นางจะเผชิญกับเรื่องราวและปัญหาต่างๆ ด้วยท่าทีของการค้นหาสัจธรรมความจริง และเมื่อจดหมายของท่านศาสดาสุไลมาน (อ.) ได้ถูกส่งไปยังนาง นางได้พิจารณาใคร่ครวญอย่างถี่ถ้วน และได้บรรยายถึงจดหมายของศาสดาสุมาน (อ.) ว่าเป็นจดหมายที่มีเกียรติ [5] เนื่องจากนางได้พบว่าเนื้อหาของจดหมายนั้นเป็นสิ่งที่มีเกียรติ

     ราชินีแห่งซะบะอ์แตกต่างจากบรรดาผู้ปกครองเผด็จการในหน้าประวัติศาสตร์ โดยที่นางจะให้ความสำคัญต่อความคิดเห็นของหมู่ชน และนางได้ปรึกษาหารือกับบรรดาผู้อาวุโสและเหล่าอำมาตย์ของตนเกี่ยวกับจดหมายของศาสดาสุไลมาน (อ.) [6] และถึงแม้ว่าบรรดาอำมาตย์จะให้ความมั่นใจต่อนางเกี่ยวกับศักยภาพทางการทหาร [7] แต่มหาสตรีผู้นี้ได้ล่วงรู้เป็นอย่างดีถึงความเสียหายอันใหญ่หลวงอันจะเป็นผลมาจากสงครามที่จะเกิดขึ้น และนางได้กล่าวว่า :

قَالَتْ إِنَّ الْمُلُوكَ إِذَا دَخَلُوا قَرْيَةً أَفْسَدُوهَا وَجَعَلُوا أَعِزَّةَ أَهْلِهَا أَذِلَّةً وَكَذَلِكَ يَفْعَلُونَ

“นางได้กล่าวว่า “แท้จริงเหล่ากษัตริย์นั้น เมื่อเข้าไปในเมืองใดก็ตาม พวกเขาก็จะทำลายมัน และจะทำให้บรรดาผู้มีอำนาจของเมืองนั้นเป็นผู้ต่ำต้อย และเช่นนั้นแหละพวกเขากระทำ”

(อัลกุรอานบทอันนัมล์ โองการที่ 34)

     ดังนั้นนางจึงได้ตัดสินใจที่จะทำการประนีประนอม และได้ทำการทดสอบท่านศาสดาสุไลมาน (อ.) ด้วยการส่งของกำนันไปให้ และรอดูปฏิกิริยาของท่านศาสดาสุไลมาน (อ.) ที่มีต่อของกำนัลดังกล่าว [8]

     ท่านศาสดาสุไลมาน (อ.) ได้แสดงปฏิกิริยาต่อของกำนัลดังกล่าวตามแบบฉบับของผู้เป็นศาสดา [9] และได้ปฏิเสธการยอมรับของกำนัลของราชินีแห่งซะบะอ์ด้วยการให้เหตุผลบางประการ และมาคราวนี้ ท่านได้เรียกร้องเชิญชวนนางมาสู่การยอมรับในเกานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าด้วยท่าทีที่แข็งกร้าวมากกว่าเดิม และได้ออกคำสั่งให้นำบัลลังก์ของราชินีบิลกีสมาให้ท่านโดยไว และให้ทำการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมันเล็กน้อย เพื่อที่ว่าโดยวิธีการดังกล่าวจะได้ทดสอบระดับภูมิปัญญาของสตรีผู้นี้

     ราชินีแห่งซะบะอ์ซึ่งเป็นสตรีที่ฉลาดปราดเปรื่อง นางได้ตัดสินใจไปพบท่านศาสดาสุไลมาน (อ.) เพื่อทำการสนทนาและพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องของความเชื่อกับท่านโดยตรง หลังจากที่ได้มาอยู่ต่อหน้าของท่านศาสดาสุไลมาน (อ.) นางได้พบการเปลี่ยนแปลงบางอย่างในบัลลังก์ของตน [10]

     สตรีผู้สูงศักดิ์ท่านนี้ เมื่อได้ยินคำพูดต่างๆ ของศาสดาสุไลมาน (อ.) และได้เห็นความยิ่งใหญ่ของปราสาทของศาสดาแห่งพระผู้เป็นเจ้าท่านนี้ ทำให้นางเกิดความศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้า และในที่สุดนางก็ได้รับเกียรติในการแต่งงานกับท่านศาสดาสุไลมาน (อ.)

     เรื่องราวของราชินีแห่งซะบะอ์ (ชีบา) ได้ถูกหยิบยก ในฐานะที่เป็นแนวทางสำหรับการยอมรับสัจธรรมของประชาชน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับบรรดาผู้ปกครองทั้งหลาย ที่มีต่อการเรียกร้องเชิญชวนของปวงศาสดาแห่งพระผู้เป็นเจ้าและเป็นสัญลักษณ์ของความมีภูมิปัญญาทางการเมืองของเหล่าสตรีในการเผชิญหน้าและการปฏิบัติต่อบรรดาฝ่ายตรงข้ามของตน

เชิงอรรถ :

[1] ตัฟซีร อัซซอฟี , เฟฎ กาชานี , เล่มที่ 4 , หน้าที่ 64 , เขียนเชิงอรรถโดย ฮะซัน อะอ์ละมี ; มัจญ์มะอุ้ลบะยาน , เล่มที่ 18 , หน้าที่ 98

[2] อัลกุรอานบทอันนัมล์ โองการที่ 24 :

وَجَدتُّهَا وَقَوْمَهَا يَسْجُدُونَ لِلشَّمْسِ مِن دُونِ اللَّهِ وَزَيَّنَ لَهُمُ الشَّيْطَانُ أَعْمَالَهُمْ فَصَدَّهُمْ عَنِ السَّبِيلِ فَهُمْ لَا يَهْتَدُونَ

“และข้าพเจ้าได้พบว่านางและหมู่ชนของนางสักการะบูชาดวงอาทิตย์แทนการเคารพภักดีอัลลอฮ์ และมาร (ชัยฎอน) ได้ทำให้การงาน (ที่ชั่วร้าย) ของพวกเขาดูเป็นสิ่งดีงามสำหรับพวกเขา และได้กีดกันพวกเขาจากแนวทาง (ที่เที่ยงตรง) ดังนั้นพวกเขาจึงไม่ได้รับการชี้นำ”

[3] คัมภีร์อัลกุรอานได้วาดภาพให้เห็นถึงอาณาจักรปกครองของนาง โดยอ้างคำพูดของฮุดฮุด (นกหัวขวาน) ไว้เข่นนี้ว่า :

إِنِّي وَجَدتُّ امْرَأَةً تَمْلِكُهُمْ وَأُوتِيَتْ مِن كُلِّ شَيْءٍ وَلَهَا عَرْشٌ عَظِيمٌ

“แท้จริงข้าพเจ้าได้พบสตรีนางหนึ่ง ทำการปกครองชาวเมืองนั้น และนางมีทุกสิ่งอย่างครบถ้วน และนางมีบัลลังก์ที่ใหญ่โต”

(อัลกุรอานบทอันนัมล์ โองการที่ 23)

 [4] อัลกุรอานบทอันนัมล์ โองการที่ 30 และ 31 :

إِنَّهُ مِن سُلَيْمَانَ وَإِنَّهُ بِسْمِ اللَّهِ الرَّحْمَنِ الرَّحِيمِ* أَلَّا تَعْلُوا عَلَيَّ وَأْتُونِي مُسْلِمِينَ

"แท้จริงมัน (คือจดหมาย) จากสุไลมาน และแท้จริง (เนื้อความของ) มันมีดังนี้ว่า “ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ ผู้ทรงเมตตายิ่ง ผู้ทรงปรานีเสมอ พวกท่านอย่าได้ทรนงตนต่อฉัน และจงมาหาฉันอย่างผู้ยอมสวามิภักดิ์เถิด”

 [5] อัลกุรอานบทอันนัมล์ โองกาที่ 29 :

قَالَتْ يَا أَيُّهَا المَلَأُ إِنِّي أُلْقِيَ إِلَيَّ كِتَابٌ كَرِيمٌ

"(ราชินีบิลกิส) กล่าวว่า “โอ้หัวหน้ากลุ่มชนทั้งหลาย! แท้จริงจดหมายอันมีเกียรติฉบับหนึ่งได้ถูกนำมามอบแก่ฉัน"

 [6] อัลกุรอานบทอันนัมล์ โองการที่ 32 :

قَالَتْ يَا أَيُّهَا المَلَأُ أَفْتُونِي فِي أَمْرِي مَا كُنتُ قَاطِعَةً أَمْرًا حَتَّى تَشْهَدُونِ

“นางได้กล่าวต่อไปอีกว่า “โอ้หัวหน้ากลุ่มชนทั้งหลาย! พวกท่านจงให้คำแนะนำแก่ฉันในเรื่องของฉันนี้เถิด เพราะฉันไม่เคยตัดสินใจในกิจการใด จนกว่าพวกท่านจะอยู่ร่วมกับฉันด้วย”

 [7] อัลกุรอานบทอันนัมล์ โองการที่ 33 :

قَالُوا نَحْنُ أُولُو قُوَّةٍ وَأُولُو بَأْسٍ شَدِيدٍ وَالْأَمْرُ إِلَيْكِ فَانظُرِي مَاذَا تَأْمُرِينَ

“พวกเขากล่าวว่า พวกเราเป็นกลุ่มชนที่มีพลัง และเป็นพวกที่มีกำลังรบเข็มแข็ง แต่กิจการนี้ ก็อยู่ในการตัดสินใจของพระนาง ดังนั้นพระนางได้โปรดพิจารณาดูเถิดสิ่งใดว่าพระนางจะทรงบัญชาอย่างไร”

 [8] อัลกุรอานบทอันนัมล์ โองการที่ 35 :

وَإِنِّي مُرْسِلَةٌ إِلَيْهِم بِهَدِيَّةٍ فَنَاظِرَةٌ بِمَ يَرْجِعُ الْمُرْسَلُونَ

“และแท้จริงฉันจะส่งของกำนัลไปให้พวกเขา แล้วฉันจะรอดูว่า บรรดาผู้ที่ถูกส่งไปนั้นจะกลับมาด้วยกับสิ่งใด?”

[9] อัลกุรอานบทอันนัมล์ โองการที่ 36 - 37 :

فَلَمَّا جَاء سُلَيْمَانَ قَالَ أَتُمِدُّونَنِ بِمَالٍ فَمَا آتَانِيَ اللَّهُ خَيْرٌ مِّمَّا آتَاكُم بَلْ أَنتُم بِهَدِيَّتِكُمْ تَفْرَحُونَ* ارْجِعْ إِلَيْهِمْ فَلَنَأْتِيَنَّهُمْ بِجُنُودٍ لَّا قِبَلَ لَهُم بِهَا وَلَنُخْرِجَنَّهُم مِّنْهَا أَذِلَّةً وَهُمْ صَاغِرُونَ

“ครั้นเมื่อพวกเขาได้เข้าพบสุไลมานแล้ว เขา (สุไลมาน) ก็กล่าว (กับพวกเขา) ว่า “พวกท่านจะหยิบยื่นทรัพย์สินเป็นของกำนัลแก่ฉันกระนั้นหรือ? ที่จริงแล้วสิ่งที่อัลลอฮ์ทรงประทานให้แก่ฉันนั้น ดีงามยิ่งกว่าสิ่งที่พระองค์ประทานให้แก่พวกท่าน แต่พวกท่านย่อมพึงพอใจต่อของกำนัลของพวกท่านแน่ จงกลับไปยังพวกเขาเถิด เพราะแน่นอนว่าเราจะนำกองทัพไปยังพวกเขา โดยที่พวกเขาไม่มีกำลังที่จะต้านทานมันได้ และแน่นอน เราจะขับไล่พวกเขาออกจากที่นั่นอย่างอัปยศ และพวกเขาจะเป็นผู้ต่ำต้อย”

 [10] อัลกุรอานบทอันนัมล์ โองการที่ 42 :

فَلَمَّا جَاءَتْ قِيلَ أَهَٰكَذَا عَرْشُكِ قَالَتْ كَأَنَّهُ هُوَ وَأُوتِينَا الْعِلْمَ مِن قَبْلِهَا وَكُنَّا مُسْلِمِينَ

“ครั้นเมื่อนางได้มา (พบกับสุไลมาน) ก็มีผู้กล่าวกับนางว่า “บัลลังก์ของพระนางเป็นอย่างนี้หรือ?” นางได้กล่าวว่า “คล้ายๆ กับว่าจะใช่มัน” และเราได้รับความรู้มาก่อนหน้านั้น (ว่าท่านมีปาฏิหาริย์สามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งใดๆ ได้) และเราเป็นผู้ยอมสวามิภักดิ์แล้ว”

นางได้กล่าวว่า« كَأَنَّهُ هُوَ »  (คล้ายๆ กับว่าจะใช่มัน) และนางไม่ได้กล่าวว่า «انّه هو»  (ใช่ นี่แหละบัลลังก์ของฉัน) (ซัน ดัร อออีเนะฮ์ ญะลาล วะ ญะมาล - หน้าที่ 288)


ข้อมูลจาก : Jonbeshnet

แปลและเรียบเรียงโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

ผู้เยี่ยมชมอยู่ขณะนี้

มี 977 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์

7986598
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
30009
62049
361236
7158519
1899102
1542121
7986598

ศ 29 มี.ค. 2024 :: 11:18:33