โอกาสที่ดีที่สุดสำหรับการขออภัยโทษ! ในเดือนรอมฏอนอันประเสริฐ
Powered by OrdaSoft!
No result.
โอกาสที่ดีที่สุดสำหรับการขออภัยโทษ! ในเดือนรอมฏอนอันประเสริฐ

ด้วยบรรยากาศของเดือนรอมฎอนที่ถูกทำให้สะอาดบริสุทธิ์จากความแปดเปื้อน จากความชั่วร้ายต่างๆ ของชัยฏอน (มารร้าย) และบรรยากาศอันสูงส่งทางด้านวิญญาณของเดือนนี้ถูกทำให้เกิดพลังและความเข้มแข็ง เพื่อจะนำความเมตตาและพระกรุณาธิคุณของพระผู้เป็นเจ้ามาสู่ปวงบ่าวของพระองค์

     ความหวังที่จะได้รับการเยียวยารักษาจากความป่วยไข้ต่างๆ ทางจิตวิญญาณที่เกิดจากความชั่วและความผิดบาปทั้งหลายนั้นมีมากในเดือนนี้ และการได้รับอภัยโทษจากพระผู้เป็นเจ้าคือหนึ่งในการเยียวยารักษาความป่วยไข้ทางจิตวิญญาณที่ดีที่สุด     

     ในคำรายงานบทหนึ่ง ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ได้กล่าวกับซอฮาบะฮ์ (สาวก) ของท่านว่า

أَلَا أُخْبِرُكُمْ بِشَيْ ءٍ إِنْ أَنْتُمْ فَعَلْتُمُوهُ تَبَاعَدَ الشَّيْطَانُ مِنْكُمْ كَمَا تَبَاعَدَ الْمَشْرِقُ مِنَ الْمَغْرِبِ؟

“จะให้ฉันแจ้งข่าวแก่พวกท่านไหมถึงสิ่งหนึ่งซึ่งหากพวกท่านกระทำมัน ชัยฏอน (มารร้าย) จะออกห่างไปจากพวกท่าน ดังเช่นที่ทิศตะวันออกห่างไกลจากทิศตะวันตก”

     พวกเขาได้กล่าวว่า “ครับ” ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) จึงกล่าวว่า

الصَّوْمُ يُسَوِّدُ وَجْهَهُ .وَ الصَّدَقَةُ تَكْسِرُ ظَهْرَهُ .وَ الْحُبُّ فِي اللَّهِ ، وَ الْمُوَازَرَةُ عَلَى الْعَمَلِ الصَّالِحِ يَقْطَعُ دَابِرَهُ  وَ الِاسْتِغْفَارُ يَقْطَعُ وَتِينَهُ  وَ لِكُلِّ شَيْ‏ءٍ زَكَاةٌ وَ زَكَاةُ الْأَبْدَانِ الصِّيَامُ

 “การถือศีลอดจะทำให้ใบหน้าของมันดำคล้ำ การบริจาคทานจะทำให้หลังของมันหัก การแสดงความรักใน (หนทางของ) อัลลอฮ์ และการช่วยเหลือกันในการกระทำที่ดีงาม จะกำจัดมันให้สิ้นลง การขออภัยโทษจะตัดเส้นเลือดใหญ่ของมัน และสำหรับทุกสิ่งนั้นมีซะกาตและซะกาตต่าง ๆ ของร่างกายคือการถือศีลอด” (1) 

การขออภัยโทษ (อิสติฆฟาร) ในเดือนรอมฎอน  

     เดือนรอมฎอนเป็นเดือนที่บรรยากาศของมันได้ถูกทำให้สะอาดบริสุทธิ์จากความแปดเปื้อนจากความชั่วร้ายต่าง ๆ ของชัยฏอน (มารร้าย) และบรรยากาศอันสูงส่งทางด้านวิญญาณของเดือนนี้ถูกทำให้เกิดพลังและความเข้มแข็ง เพื่อจะนำความเมตตาและพระกรุณาธิคุณของพระผู้เป็นเจ้ามาสู่ปวงบ่าวของพระองค์ ความหวังที่จะได้รับการเยียวยารักษาจากความป่วยไข้ต่าง ๆ ทางจิตวิญญาณที่เกิดจากความชั่วและความผิดบาปทั้งหลายที่มีมากในเดือนนี้ การได้รับอภัยโทษจากพระผู้เป็นเจ้าคือหนึ่งในการเยียวยารักษาความป่วยไข้ทางจิตวิญญาณที่ดีที่สุด ด้วยเหตุนี้แม้ทุก ๆ การขออภัยโทษ (อิสติฆฟาร) จะเป็นสิ่งที่ดีงาม แต่สำหรับในเดือนรอมฎอนนั้นเป็นสิ่งที่ดีกว่าและมีผลมากกว่า ทั้งนี้เนื่องจากทุก ๆ การทำความดีในเดือนรอมฎอนนั้น ด้วยความจำเริญ (บะรอกัต) ของบรรยากาศทางจิตวิญญาณของเดือนนี้และพลังที่เป็นพิเศษของมันจะมีผลอย่างมากกว่า และมีความยิ่งใหญ่กว่า ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ได้กล่าวว่า

 أَیُّهَا النَّاسُ إِنَّهُ قَدْ أَقْبَلَ إِلَیْکُمْ شَهْرُ اللَّهِ بِالْبَرَکَةِ وَالرَّحْمَةِ وَالْمَغْفِرَةِ شَهْرٌ هُوَ عِنْدَ اللَّهِ أَفْضَلُ الشُّهُورِ وَأَیَّامُهُ أَفْضَلُ الْأَیَّامِ وَلَیَالِیهِ أَفْضَلُ اللَّیَالِی وَسَاعَاتُهُ أَفْضَلُ السَّاعَاتِ هُوَ شَهْرٌ دُعِیتُمْ فِیهِ إِلَى ضِیَافَةِ اللَّهِ وَجُعِلْتُمْ فِیهِ مِنْ أَهْلِ کَرَامَةِ اللَّهِ أَنْفَاسُکُمْ فِیهِ تَسْبِیحٌ وَ نَوْمُکُمْ فِیهِ عِبَادَةٌ وَعَمَلُکُمْ فِیهِ مَقْبُولٌ وَدُعَاؤُکُمْ فِیهِ مُسْتَجَابٌ فَاسْأَلُوا اللَّهَ رَبَّکُمْ بِنِیَّاتٍ صَادِقَةٍ وَقُلُوبٍ طَاهِرَةٍ أَنْ یُوَفِّقَکُمْ لِصِیَامِهِ وَتِلَاوَةِ کِتَابِهِ 

 “โอ้ประชาชนเอ๋ย! แท้จริงเดือนของอัลลอฮ์ได้มาถึงพวกท่านแล้ว พร้อมกับความจำเริญ ความเมตตาและการอภัยโทษ มันคือเดือนซึ่ง ณ อัลลอฮ์ (ซบ.) นั้นมีความประเสริฐเหนือเดือนทั้งหลาย และวันของมันประเสริฐเหนือวันทั้งหลาย ค่ำคืนของมันประเสริฐเหนือค่ำคืนทั้งหลาย ชั่วโมงของมันประเสริฐเหนือชั่วโมงทั้งหลาย มันคือเดือนซึ่งพวกท่านทั้งหลายถูกเชื้อเชิญสู่การเป็นแขกของอัลลอฮ์ และท่านทั้งหลายถูกบันดาลให้เป็นผู้มีเกียรติของอัลลอฮ์ ลมหายใจของพวกท่านในเดือนนี้คือตัสเบี๊ยะห์ (การสรรเสริญความบริสุทธิ์ต่ออัลลอฮ์) และการนอนของพวกท่านในเดือนนี้คืออิบาดะฮ์ (การเคารพภักดีต่อพระองค์) และอะมั้ล (การกระทำความดี) ของพวกท่านในเดือนนี้จะถูกยอมรับ และดุอาอ์ (การวอนขอ) ของ พวกท่านจะถูกตอบรับ ดังนั้นพวกท่านจงวิงวอนขอต่ออัลลอฮ์ พระผู้อภิบาลของพวกท่านด้วยเจตนาที่สัจจริง และด้วยหัวใจที่สะอาดบริสุทธิ์ ให้พระองค์ทรงประทานความสำเร็จแก่พวกท่านในการถือศีลอดเพื่อพระองค์ และการอ่านคัมภีร์ของพระองค์” (2) 

    ส่วนหนึ่งจากการกระทำ (อะมั้ล) ต่างๆ ที่ถูกกำชับสั่งเสียในเดือนแห่งการให้อภัยโทษนี้ คือการขออภัยโทษ (อิสติฆฟาร) ท่านอมีรุ้ลมุอ์มินีนอะลี อิบนิอบีฏอลิบ (อ.) กล่าวว่า  

عَلَیْكُمْ فِی شَهْرِ رَمَضَانَ بِكَثْرَةِ الِاسْتِغْفَارِ وَ الدُّعَاءِ فَأَمَّا الدُّعَاءُ فَیُدْفَعُ عَنْكُمْ بِهِ الْبَلَاءُ وَ أَمَّا الِاسْتِغْفَارُ فَتُمْحَى بِهِ ذُنُوبُكُم     

“ท่านทั้งหลายจงขออภัยโทษและขอดุอาอ์ให้มากในเดือนรอมฎอน เพราะสำหรับดุดาอ์นั้นจะทำให้บะลาอ์ (ความทุกข์ยาก) ถูกขจัดออกไปจากพวกท่าน ส่วนการขออภัยโทษ (อิสติฆฟาร) จะทำให้บาปทั้งหลายของพวกท่านถูกลบล้างออกไป” (3)        

โอกาสที่ดีที่สุดสำหรับการได้รับอภัยโทษ   

      เดือนรอมฎอนเป็นเดือนแห่งการให้อภัยโทษ ในคำรายงาน (ริวายะฮ์) จำนวนมากได้กล่าวถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระผู้เป็นเจ้าในการอภัยโทษแก่ปวงบ่าวในเดือนนี้ ปวงบ่าวที่โชคร้ายและน่าสังเวชที่สุดคือผู้ที่เดือนนี้ได้ผ่านไปโดยที่เขาไม่ได้รับการอภัยโทษจากพระผู้เป็นเจ้า ดังนั้นในเดือนนี้สมควรอย่างยิ่งที่เราจะทำการอิสติฆฟาร (ขออภัยโทษ) จากพระผู้เป็นเจ้าให้มากเท่าที่จะทำได้ เพื่อที่เราจะได้ไม่ตกขบวนจากกองคาราวานของผู้ที่ได้รับอภัยโทษจากพระองค์ ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ได้กล่าวว่า

 إنّ الشقیّ حقّ الشقیّ من خرج منه هذا الشهر، و لم یغفر ذنوبه، فحینئذ یخسر حین یفوز المحسنون بجوایز الربّ الكریم 

“แท้จริงผู้ที่โชคร้ายที่น่าสังเวชเป็นที่สุด นั่นคือผู้ที่เดือนนี้ได้ผ่านพ้นไปจากเขาโดยที่บาปต่าง ๆ ของเขาไม่ได้รับการให้อภัยโทษ เมื่อเป็นเช่นนั้นเขาจะขาดทุนในขณะที่ผู้ทำดีทั้งหลายจะประสบความสำเร็จใน การรับผลรางวัลต่าง ๆ จากพระผู้อภิบาลผู้ทรงกรุณายิ่ง” (4)

    ช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่จะแสวงหาการอภัยและการขออภัยโทษจากพระผู้เป็นเจ้า นั่นคือช่วงเวลาซะฮัร (ยามดึกสงัดก่อนรุ่งอรุณ) และช่วงเวลาซะฮัรที่ดีที่สุดคือช่วงเวลาซะฮัรของเดือนรอมฎอนอันจำเริญ และเป็นไปได้มากทีเดียวที่เพียงการขออภัยโทษ (อิสติฆฟาร) ในช่วงซะฮัรของเดือนรอมฎอนเพียงครั้งเดียวที่จะพลิกผันบั้นปลายอันแสนอัปยศของเราให้กลายเป็นความดีงามและความรอดพ้นได้

    แต่กระนั้นก็ตาม คนส่วนใหญ่กลับละทิ้งการกล่าวอิสติฆฟาร (การอภัยโทษ) ทั้งนี้เนื่องจากไม่รู้ถึงคุณค่าของมัน อิสติฆฟารไม่ใช่เป็นแค่เพียง “ซิกร์” (การกล่าวรำลึก) อย่างหนึ่งเพื่อที่จะได้รับผลรางวัลเพียงเท่านั้น คุณค่าของซิกร์หรือการกล่าวอิสติฆฟารนี้ มีความแตกต่างจากซิกร์อื่น ๆ การกล่าวอิสติฆฟารในอะห์กาม (บทบัญญัติ) ต่าง ๆ ของพระผู้เป็นเจ้านั้น บางครั้งถูกกำชับแนะนำในฐานะกัฟฟาเราะฮ์ (สิ่งชดเชย) ความชั่วต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น ผู้ที่ละทิ้งการถือศีลอดโดยเจตนา กัฟฟาเราะฮ์ (สิ่งชดเชย) ของมันคือ เขาจะต้องถือศีลอดติดต่อกัน 60 วัน หรือเลี้ยงอาหารแก่คนยากจน 60 คน แต่ทว่าหากเขาไร้ความสามารถที่จะกระทำอย่างใดจากทั้งสองประการนั้นได้ จำเป็นที่เขาจะต้องกล่าวอิสติฆฟาร (คำขออภัยโทษ) จำนวนหนึ่ง จากคำสั่งต่าง ๆ ในลักษณะเช่นนี้ทำให้เราประจักษ์ถึงคุณค่าที่แท้จริงของการกล่าวอิสติฆฟารในการขจัดความ ผิดบาปและความบกพร่องต่าง ๆ ได้        

ผลของการอิสติฆฟารในริวายะฮ์ (คำรายงาน)

    ขจัดความทุกข์โศกและความทุกข์กังวลใจ : ความชั่วและการละเมิดฝ่าฝืนต่อพระผู้เป็นเจ้านั้นจะเป็นบ่อเกิดของความเศร้าโศกและความทุกข์ใจสำหรับผู้ที่กระทำความชั่ว ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ได้กล่าวในเรื่องนี้ว่า :

وَمَنْ كَثُرَتْ هُمُومُهُ ، فَعَلَيْهِ بِالِاسْتِغْفَارِ

“ผู้ใดก็ตามที่มีความทุกข์กังวลใจมาก ดังนั้นเขาจงขออภัยโทษ” (5) 

     และท่านยังได้กล่าวอีกว่า

مَنْ أَكْثَرَ مِنَ الِاسْتِغْفَارِ جَعَلَ اللَّهُ لَهُ مِنْ كُلِّ هَمٍّ فَرَجًا، وَمِنْ كُلِّ ضِيقٍ مَخْرَجًا، وَرَزَقَهُ مِنْ حَيْثُ لَا يَحْتَسِبُ

“ผู้ใดก็ตามที่ทำการขออภัยโทษอย่างมากมาย อัลลอฮ์จะทรงประทานการคลี่คลายแก่เขาจากทุก ๆ ความทุกข์โศก และจะทรงประทานทางออกจากทุก ๆ ความคับแค้น และจะทรงประทานปัจจัยดำรงชีพแก่เขาโดยที่เขาไม่คิดคำนวณ” (6)  

     การเพิ่มพูนริษกี (ปัจจัยอำนวยสุข) : ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า :

ألاستِغفارُ یَزیدُ فی الرّزقِ

“การขออภัยโทษนั้นจะเพิ่มพูนริษกี (ปัจจัยดำรงชีพ)” (7)  

     และเช่นเดียวกันนี้ ท่านยังได้กล่าวอีกว่า :

     قَدْ جَعَلُ الله سُبْحانَهُ الإستِغْفارَ سَببَاً لدرور الرِزْقِ وَ رَحْمَةَ الخَلُقِ فقال: اسْتَغْفِرُوا رَبَّكُمْ انّهُ كانَ غَفَّارًا یُرْسِلِ السَّماءَ عَلَیْكُمْ مِدْراراً وَيُمْدِدْكُم بِأَمْوَالٍ وَبَنِينَ وَيَجْعَل لَّكُمْ جَنَّاتٍ وَيَجْعَل لَّكُمْ أَنْهَارًا 

“แน่นอน อัลลอฮ์ผู้ทรงบริสุทธิ์ ทรงบันดาลให้การขออภัยโทษเป็นสื่อสำหรับความอุดมของปัจจัยดำรงชีพและความเมตตาแก่มวลมนุษย์ โดยที่พระองค์ทรงตรัสว่า พวกท่านจงขออภัยโทษต่อพระผู้อภิบาลของพวกท่านเถิด เพราะแท้จริงพระองค์เป็นผู้ทรงอภัยโทษอย่างล้นเหลือ พระองค์จะทรงหลั่งน้ำฝนอย่างมากมายแก่พวกท่าน และพระองค์จะทรงเพิ่มพูนทรัพย์สินและลูกหลานแก่พวกท่าน และจะทรงบันดาลสวนมากมายแก่พวกท่าน และจะทรงบันดาลธารน้ำหลายสายแก่พวกท่าน” (8)

    การปัดป้องบะลาอ์ (ความทุกข์ยากและการทดสอบ) : ในทำนองเดียวกัน ผลพวงอันเลวร้ายของความชั่วคือสาเหตุของการนำมาซึ่งบะลาอ์ ความทุกข์ยากและภัยพิบัติต่าง ๆ ในทางกลับกัน หนึ่งจากผลที่ดีงามของการขออภัยโทษ (อิสติฆฟาร) นั้นคือการปัดป้องจากบะลาอ์และความทุกข์ยากต่าง ๆ ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้กล่าวในกรณีนี้ว่า :

داوُوا مَرْضاكُمْ بِالصَّدَقَةِ، وَ ادْفَعُوا أبْوابَ الْبَلايا بِالاْسْتِغْفارِ.

“ท่านทั้งหลายจงเยียวยารักษาผู้ป่วยของพวกท่านด้วยการบริจาคทาน และจงปัดป้องประตูแห่งความทุกข์ยากต่าง ๆ ด้วยการขออภัยโทษ” (9)    

    ท่านอมีรุ้ลมุอ์มินีนอะลี (อ.) กล่าวไว้เช่นกันว่า :

 كَانَ فِي الْأَرْضِ أَمَانَانِ مِنْ عَذَابِ اللَهُ، وَقَدْ رُفِعَ أَحَدُهُمَا، فَدُونَكُمُ الْآخَرَ فَتَمَسَّكُوا بِهِ: أَمَّا الْأَمَانُ الَّذِي رُفِعَ فَهُوَ رَسُولُ اللهُ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَآلِهِ وَسَلَّمِ. وَأَمَّا الْأَمَانُ الْبَاقِي فَالْإِسْتِغْفَارْ، قَالَ اللهُ تَعَالى: ﴿وَمَا كَانَ اللهُ لِيُعَذِّبَهُمْ وَأَنْتَ فِيهِمْ وَمَا كَانَ اللهُ مُعَذِّبَهُمْ وهُمْ يَسْتَغْفِرُونَ   

       “ในหน้าแผ่นดินนี้มีหลักประกันความปลอดภัยจากการลงโทษของอัลลอฮ์อยู่สองประการ โดยที่หนึ่งจากทั้งสองประการนั้นถูกยกไปแล้ว แต่อีกประการหนึ่งยังอยู่กับพวกท่าน ดังนั้นพวกท่านจงยึดมั่นต่อมัน สำหรับหลักประกันความปลอดภัยที่ถูกยกไปจากพวกท่านแล้ว นั่นก็คือศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ส่วนหลักประกันความปลอดภัยที่ยังคงเหลืออยู่ นั่นก็คือการขออภัยโทษ (อิสติฆฟาร) อัลลอฮ์ผู้ทรงสูงส่งทรงตรัสว่า “และอัลลอฮ์จะไม่ทรงลงโทษพวกเขา ขณะที่เจ้าอยู่กับพวกเขา และอัลลอฮ์จะไม่ทรงลงโทษพวกเขาในขณะที่พวกเขายังขออภัยโทษกัน” (10)  


แหล่งที่มา :

(1) อัลอามาลี, เชคซุดูก, มัจญ์ลิสที่ 15, หน้าที่ 61

(2) ตัรญุมะฮ์ อัรบะอีน, เชคบะฮาอี, หน้าที่ 194

(3) อัลอามาลี, เชคซุดูก, มัจญ์ลิสที่ 15, หน้าที่ 61

(4) มุสนัดอัลอิมามุรริฎอ, เล่มที่ 2, หน้าที่ 185

(5) อัลมะฮาซิน, หน้าที่ 42

(6) อุดดะตุดดาอี, หน้าที่ 249

(7) อัลคิศ๊อล, บาบุลอิสติฆฟาร, ฮะดีษที่ 4

(8) อัลกุรอานบทนูห์ โองการที่ 10 ถึง 12, นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ คุฏบะฮ์ที่ 143

(9) มุสตัดร็อก อัลวะซาอิล, เล่มที่ 7, หน้าที่ 163, ฮะดีษที่ 1

(10) อัลกุรอาน บทอัลอันฟาล โองการที่ 33, นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, ฮิกมะฮ์ที่ 85


บทความ : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

Copyright © 2017 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้อิสลามสำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่

ผู้เยี่ยมชมอยู่ขณะนี้

มี 977 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์

9865050
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
4178
66240
340595
9045061
1716584
2060970
9865050

ศ 26 เม.ย. 2024 :: 01:24:48