ความดี (อะมั้ล) และการศรัทธา ที่จะเป็นที่ยอมรับจากพระผู้เป็นเจ้า
Powered by OrdaSoft!
No result.

ความดี (อะมั้ล) และการศรัทธา ที่จะเป็นที่ยอมรับจากพระผู้เป็นเจ้า

    การไม่กระทำบาป การระวังรักษาจิตใจให้อยู่ในความสะอาดบริสุทธิ์ การดำรงตนอยู่ในความสำรวมตน การมีตักวา (ความยำเกรงพระผู้เป็นเจ้า) และการมีจิตมุ่งตรงต่อพระผู้เป็นเจ้า คือส่วนหนึ่งจากเงื่อนไขในการการตอบรับการกระทำความดี (อะมั้ล) ของมนุษย์ ดังนั้นใครก็ตามที่แม้เขาจะกระทำนมาซ แต่ในขณะเดียวกันเขายังกระทำบาป ยืนกรานในการกระทำดังกล่าวและไม่กลับเนื้อกลับตัว (เตาบะฮ์) ความชั่วและความผิดบาปนั้นจะเป็นสาเหตุทำให้การนมาซของเขาไม่ถูกยอมรับจากพระผู้เป็นเจ้า แม้ว่าในแง่ของศาสนบัญญัตินั้นการนมาซของเขาจะถูกต้องและไม่จำเป็นต้องกระทำชดเชย (กอฎออ์) ก็ตาม

    ในริวายะฮ์ (คำรายงาน) ต่างๆ ได้อธิบายว่า การนินทา การดื่มสุรา การละเมิดประเวณี (ซินา) การยับยั้งตนจากการจ่ายซะกาตและอื่นๆ จะเป็นอุปสรรคกีดขวางจากการถูกยอมรับของการนมาซ กระทั่งว่าบาปและความชั่วบางประการจะยับยั้งการถูกยอมรับของนมาซเป็นเวลาถึง 40 วัน ดังนั้นใครก็ตามที่ปรารถนาจะให้การนมาซและการอิบาดะฮ์ของตนถูกยอมรับจากพระผู้เป็นเจ้า จำเป็นที่เขาจะต้องสารภาพผิดและกลับตัวกลับใจ (เตาบะฮ์) เสียตั้งแต่ตอนนี้ด้วยความบริสุทธิ์ใจ และย่างก้าวเข้าสู่เส้นทางของการยอมตนเป็นบ่าวและการเชื่อฟังปฏิบัติตามพระผู้เป็นเจ้าอย่างแท้จริง

    ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า การนมาซนอกจากมี “เงื่อนไขของความถูกต้อง” ยังมีเงื่อนไขของการถูกยอมรับและเงื่อนไขของความสมบูรณ์ของมันอีกด้วย ในโองการอัลกุรอานและในริวายะฮ์ (คำรายงาน) ได้อธิบายถึงเงื่อนไขต่างๆ ของการถูกยอมรับในการทำความดี (อะมั้ล) และการอิบาดะฮ์ อย่างเช่นการนมาซ ซึ่งจะขอชี้ให้เห็นตัวอย่างดังต่อไปนี้

เงื่อนไขทางด้านความเชื่อและความศรัทธา

     ความศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าหรือการไม่ศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้าและสิ่งที่จำเป็นจะต้องศรัทธาทั้งหลาย (อย่างเช่น ต่อศาสดาและคัมภีร์อัลกุรอาน) จะทำให้การกระทำความดีงามต่างๆ ของเราถูกทำลาย พระผู้เป็นเจ้าทรงตรัสว่า :

 وَ مَنْ یكْفُرْ بِالْإِیمانِ فَقَدْ حَبِطَ عَمَلُهُ

“และผู้ใดที่ปฏิเสธศรัทธา แน่นอนยิ่งการกระทำ (ความดี) ของเขาย่อมมลายสิ้น” (1)

เงื่อนไขทางการเมือง

     วิลายะฮ์ (การยอมรับอำนาจการปกครอง) ของอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) อำนาจการปกครอง (วิลายะฮ์) และความเป็นผู้นำที่ถูกต้องจากพระผู้เป็นเจ้านั้นจะทำให้ปวงบ่าวของพระผู้เป็นเจ้าดำรงตนอยู่ในแนวทางที่ถูกต้องและเที่ยงตรงของพระองค์ ในฮะดีษ (วจนะ) จากท่านอิมามบากิร (อ.) ท่านกล่าวว่า

 بِعِبَادَهٍ یجْهِدُ فِیهَا نَفْسَهُ وَ لَا إِمَامَ لَهُ مِنَ اللَّهِ فَسَعْیهُ غَیرُ مَقْبُول

“ผู้ใดก็ตามเชื่อฟังอัลลอฮ์ ผู้ทรงเกริกเกียรติ ผู้ทรงเกรียงไกร ด้วยการอิบาดะฮ์ที่เขาทุ่มเทความพยายามตัวของเขาใน (การกระทำ) มัน แต่เขาไม่มีอิมาม (ผู้นำ) ที่มาจากอัลลอฮ์ ดังนั้นความพยายามของเขาจะไม่ถูกยอมรับ” (2)

      ในฮะดีษอีกบทหนึ่ง ท่านอิมามซัยนุลอาบิดีน (อ.) ได้กล่าวตอบผู้หนึ่งที่ถามว่า “อะไรคือสื่อที่จะทำให้การนมาซถูกยอมรับ” ท่านกล่าวว่า

  وَلَایتُنَا وَ الْبَرَاءَهُ مِنْ أَعْدَائِنَا

“การยอมรับวิลายะฮ์ (อำนาจการปกครอง) ของเราและการเอาตัวออกห่างจากบรรดาศัตรูของเรา” (3)

     ดังนั้นเงื่อนไขการถูกยอมรับการนมาซคือ “วิลายะฮ์” แต่จะต้องควบคู่ไปพร้อมกับการมีตักวา (ความสำรวมตนและความยำเกรงพระผู้เป็นเจ้า) ท่านอิมามบากิร (อ.) กล่าวว่า

 وَ مَا تُنَالُ وَلَایتُنَا إِلَّا بِالْعَمَلِ وَ الْوَرَعِ

“วิลายะฮ์ของเราจะไม่เกิดขึ้นนอกจากด้วยการกระทำ (อะมั้ล) และการเคร่งครัด” (4)

เงื่อนไขทางด้านศีลธรรมและจริยธรรม

     (ก) ตักวา (ความยำเกรงและความสำรวมตน) ในเรื่องราวของบุตรชายสองคนของศาสดาอาดัม (อ.) ในคัมภีร์อัลกุรอาน ทั้งสองได้ทำการพลี (กุรบาน) ต่อพระผู้เป็นเจ้า การพลีของผู้หนึ่งถูกยอมรับ แต่การพลีของอีกผู้หนึ่งไม่ถูกยอมรับ พระผู้เป็นเจ้าทรงตรัสว่า

 إِنَّما یتَقَبَّلُ اللَّهُ مِنَ الْمُتَّقِین

“อันที่จริงแล้วอัลลอฮ์จะทรงยอมรับจากบรรดาผู้ยำเกรงเท่านั้น” (5)

    ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้กล่าวในเรื่องนี้เช่นกันว่า

 لَوْ صَلَّیتُمْ حَتَّى تَكُونُوا كَالْأَوْتَارِ وَ صُمْتُمْ حَتَّى تَكُونُوا كَالْحَنَایا لَمْ یقْبَلِ اللَّهُ مِنْكُمْ إِلَّا بِوَرَعٍ

“หากท่านทำนมาซกระทั่งว่าประหนึ่งดังสายธนูและถือศีลอดประหนึ่งดังคันธนู อัลลอฮ์ก็จะไม่ทรงยอมรับจากท่าน นอกจากด้วยเคร่งครัด (และความสำรวมตนจากความชั่ว)” (6)

   (ข) การมีหัวใจมุ่งตรงต่อพระผู้เป็นเจ้าในการนมาซ ท่านอิมามบากิร (อ.) กล่าวว่า

 عَلَیكَ بِالْإِقْبَالِ عَلَى صَلَاتِكَ فَإِنَّمَا یحْسَبُ لَكَ مِنْهَا مَا أَقْبَلْتَ عَلَیه

“จงมุ่งตรง (ต่ออัลลอฮ์) ในการนมาซของท่าน เพราะแท้จริงแล้วจะถูกนับคำนวณ (และยอมรับ) แก่ท่านตามขอบเขตที่ท่านมีจิตมุ่งตรง” (7)

เงื่อนไขทางด้านเศรษฐกิ

     (ก) การปฏิบัติตามสิทธิของเพื่อนมนุษย์ การดูแลคนยากจนและการสนองสิทธิของบรรดาผู้ถูกลิดรอนและคนยากจนขัดสนนั้น มีความสำคัญถึงขั้นที่บางครั้งจะมีผลต่อการถูกยอมรับของอะมั้ล (การกระทำความดี) และการอิบาดะฮ์ของเรา การจ่ายซะกาตหรือการมีรายได้ที่มาจากอาชีพที่สุจริต (ฮะลาล) คือส่วนหนึ่งจากตัวย่างเหล่านี้ ท่านอิมามริฎอ (อ.) กล่าวว่า

 فَمَنْ صَلَّى وَ لَمْ یزَكِّ لَمْ تُقْبَلْ مِنْهُ صَلَاتُه

“ผู้ใดก็ตามที่ทำนมาซในขณะที่เขาไม่จ่ายซะกาต การนมาซของเขาจะไม่ถูกยอมรับ” (8)

     (ข) การแสวงหาทรัพย์สินเงินทองและปัจจัยยังชีพที่ฮะลาล (อนุมัติตามศาสนบัญญัติ) ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวกับกุเมลว่า

 یا كُمَیلُ انْظُرْ فِى مَا تُصَلِّى وَ عَلَى مَا تُصَلِّى إِنْ لَمْ یكُنْ مِنْ وَجْهِهِ وَ حِلِّهِ فَلَا قَبُولَ

 “โอ้กุเมลเอ๋ย! จงพิจารณาดูในสิ่งที่เจ้าจะทำการนมาซและบนสิ่งที่เจ้าจะทำการนมาซ หากมันไม่ได้มาจากวิธี (ที่ถูกต้อง) ของมัน และแนวทางที่อนุมัติของมัน ดังนั้นก็ไม่มีการยอมรับใดๆ (สำหรับมัน)” (9)

เงื่อนไขทางด้านสังคม

     ความปรารถนาดีและความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่น ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า :

 قَالَ اللَّهُ تَبَارَكَ وَ تَعَالَى إِنَّمَا أَقْبَلُ الصَّلَاهَ لِمَنْ تَوَاضَعَ لِعَظَمَتِى وَ یكُفُّ نَفْسَهُ عَنِ الشَّهَوَاتِ مِنْ أَجْلِى وَ یقْطَعُ نَهَارَهُ بِذِكْرِى وَ لَا یتَعَاظَمُ عَلَى خَلْقِى وَ یطْعِمُ الْجَائِعَ وَ یكْسُو الْعَارِى وَ یرْحَمُ الْمُصَابَ وَ یوْوِى الْغَرِیب

“อัลลอฮ์ผู้ทรงจำเริญผู้ทรงสูงส่งได้ทรงตรัสว่า แท้จริงข้าจะยอมรับการนมาซของผู้ที่นอบน้อมถ่อมตนต่อความยิ่งใหญ่ของข้า และยับยั้งตนจากกิเลสตัณหาทั้งหลายเพื่อข้า และจะทำให้กลางวันของเขาสิ้นสุดลงด้วยการรำลึกถึงข้า เขาจะไม่ทำตัวเป็นผู้ยิ่งใหญ่ต่อสิ่งถูกสร้าง (มนุษย์) ของข้า จะให้อาหารแก่ผู้หิวโหย ให้เสื้อผ้าสวมใส่แก่คนที่ไร้เครื่องนุ่งห่ม เมตตาแก่ผู้ตกทุกข์ได้ยาก และให้ที่พักพิงแก่ผู้พลัดถิ่น” (10)

เงื่อนไขทางด้านครอบครัว

    การปฏิบัติตนที่ดีต่อกัน ศาสนาอิสลามอันบริสุทธิ์ได้ผูกสัมพันธ์เรื่องของอิบาดะฮ์ (การนมัสการและการเคารพภักดีพระผู้เป็นเจ้า) การเมือง ศีลธรรมและสังคมเข้าไว้ด้วยกันอย่างแข็งแกร่งและเหนียวแน่น ในกิจการต่างๆ ที่เกี่ยวกับครอบครัวก็เช่นเดียวกัน การความเคารพเกียรติซึ่งกันและกันและการระวังรักษาสิทธิระหว่างสามีและภรรยาถือเป็นสิ่งสำคัญถึงขั้นที่หากไม่ใส่ใจต่อเรื่องนี้จะเป็นเหตุทำให้นมาซของคนเราไม่ถูกตอบรับ และการทำลายสายสัมพันธ์ต่างๆ ในโลกนี้จะเป็นเหตุทำให้สายสัมพันธ์แห่งฟากฟ้าถูกตัดขาดลงได้ด้วยเช่นเดียวกัน ในเรื่องนี้ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ได้กล่าวว่า

 مَنْ كَان له امرأة تُؤذِيه لَم يَقْبل اللهُ صَلاتَهَا ، وَلا حَسَنَة مِن عَمَلِها . . . و على الرّجل مثل ذلك

“ผู้ใดที่ภรรยาของเขาได้ปฏิบัติไม่ดีต่อเขา อัลลอฮ์จะไม่ทรงยอมรับการนมาซของนางและการกระทำที่ดีงามของนาง… และสำหรับสามีก็เช่นเดียวกัน” (11)

    ไม่เพียงแต่พฤติกรรมที่ไม่ดีของภรรยาที่มีต่อสามี หรือในทางกลับกัน พฤติกรรมที่ไม่ดีของสามีที่มีต่อภรรยา ก็จะมีผลกระทบเช่นนี้ แม้แต่การมองของบุตรยังบิดามารดาของตนด้วยสายตาที่ไม่พอใจหรือโกรธ ก็จะเป็นสื่อยับยั้งการถูกยอมรับของอิบาดะฮ์ด้วยเช่นกัน ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า

 من نظر الى أبویه نظر ماقتٍ و هما ظالمان له لم یقبل الله له صلاهً

“ผู้ใดที่มองไปยังพ่อแม่ของตนด้วยสายตาของผู้ที่มีความโกรธเคือง แม้ทั้งสองจะเป็นผู้อธรรมต่อเขาก็ตาม อัลลอฮ์จะไม่ทรงยอมรับการนมาซของเขา” (12)


เชิงอรรถ :

(1) อัลกุรอานบทอัลมาอิดะฮ์ โองการที่ 5

(2) อัลกาฟี, เล่มที่ 1, หน้าที่183

(3) บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 81, หน้าที่ 244

(4) อัลกาฟี, เล่มที่ 2, หน้าที่ 74

(5) อัลกุรอานบทอัลมาอิดะฮ์ โองการที่ 27

(6) บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 81, หน้าที่ 258

(7) อัลกาฟี, เล่มที่ 2, หน้าที่ 299

(8) วะซาอิลุชชีอะฮ์, เล่มที่ 9, หน้าที่ 25

(9) วะซาอิลุชชีอะฮ์, เล่มที่ 5, หน้าที่ 119

(10) บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 81, หน้าที่ 242

(11) วะซาอิลุชชีอะฮ์, เล่มที่ 20, หน้าที่ 163

(12) อัลกาฟี, เล่มที่ 2, หน้าที่ 349


บทความ : เชคมุฮัมมัดนาอีม  ประดับญาติ

Copyright © 2018 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่

ผู้เยี่ยมชมอยู่ขณะนี้

มี 1034 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์

9842239
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
47607
66939
317784
9045061
1693773
2060970
9842239

พฤ 25 เม.ย. 2024 :: 17:23:48