ผู้ศรัทธาต่อพระเจ้าและปรโลกที่หาใช่ผู้ศรัทธาที่แท้จริงไม่!
Powered by OrdaSoft!
No result.

ผู้ศรัทธาต่อพระเจ้าและปรโลกที่หาใช่ผู้ศรัทธาที่แท้จริงไม่!

     “มุนาฟิก (คนสับปลับ) ก็เหมือนกับหนูในท้องทุ่งหรือในทะเลทรายที่จะสร้างปากรังของมันไว้สองทาง โดยที่มันจะเปิดปากทางหนึ่งไว้เพื่อการเข้าออกและจะปิดอีกปากทางหนึ่งไว้...”

     ในอัลกุรอานบท (ซูเราะฮ์) อัลบากอเราะฮ์ พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงชี้ถึงคนกลุ่มหนึ่งว่า แม้พวกเขาจะกล่าวออกมาด้วยวาจาว่าพวกเขาศรัทธาต่ออัลลอฮ์และวันกิยามะฮ์ (วันฟื้นคืนชีพ) แต่พวกเขาก็หาใช่ผู้ศรัทธา (มุอ์มิน) ที่แท้จริงไม่

     ตัวบทของโองการ :

وَمِنَ النَّاسِ مَن یَقُولُ ءَامَنَّا بِاللَّهِ وَبِالْیَوِمِ الاْخِرِ وَمَا هُم بِمُؤْمِنِینَ

"และจากหมู่ชนนั้น มีผู้กล่าว่า เราศรัทธาต่ออัลลอฮ์และวันปรโลกแล้ว ในขณะที่พวกเขาหาใช่ผู้ศรัทธาไม่" (1)

     ในช่วงต้นของบท (ซูเราะฮ์) นี้ ได้แนะนำให้รู้จักผู้ศรัทธา (มุอ์มิน) ไว้ในสี่โองการและได้แนะนำผู้ปฏิเสธศรัทธา (กาฟิร) ไว้ในสองโองการ และจากโองการที่ 8 ถึง 20 ได้แนะนำให้รู้จักคนกลุ่มที่สาม คือ "มุนาฟิก" (คนสับปลับ) คนพวกนี้ไม่ได้มีความศรัทธาเหมือนคนกลุ่มแรกและก็ไม่มีความกล้าหาญที่จะแสดงตนว่าเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธาเหมือนคนกลุ่มที่สอง

     "มุนาฟิก" (คนสับปลับ) ก็เหมือนกับหนูในท้องทุ่งหรือในทะเลทรายที่จะสร้างปากรังของมันไว้สองทาง โดยที่มันจะเปิดปากทางหนึ่งไว้เพื่อการเข้า-ออก และจะปิดอีกปากทางหนึ่งไว้ เมื่อใดก็ตามที่มันรู้สึกถึงอันตรายและมีภัยคุกคาม มันจะใช้หัวของมันเปิดทางที่ถูกปิดไว้และวิ่งหนีไป ชื่อของรูลับ (ปากทางที่ถูกปิด) ของหนู คือ "نَافِقَاءُ" (นาฟิกออ์) ซึ่งคำว่า "มุนาฟิก" ( مُنَافِقٌ) ก็มีรากศัพท์มาจากคำเดียวกัน

      แม้ว่าจุดประสงค์ของคำว่า "นิฟาก" (ความสับปลับ) ในโองการเหล่านี้จะหมายถึง "การซ่อนการปฏิเสธศรัทธาในหัวใจและการแสดงออกถึงความศรัทธาออกมาทางภายนอก" ก็ตาม แต่ในริวายะฮ์ (คำรายงาน) ต่างๆ นั้น คำว่า "นิฟาก" (ความสับปลับ) มีความความหมายครอบคลุมอย่างกว้างขวาง โดยที่ใครก็ตามที่คำพูดและการกระทำของเขาไม่ตรงกันถือว่ามีลักษณะของความสับปลับ (นิฟาก) อยู่ในตัวเขา ในริวายะฮ์ (คำรายงาน) ได้ชี้ให้เห็นว่า หากเราบิดพลิ้วต่อความไว้วางใจ (อะมานะฮ์) และพูดปด และละเมิดต่อคำมั่นสัญญาของตนเอง เราคือ มุนาฟิก (คนสับปลับ) แม้ว่าเราจะทำนมาซและถือศีลอดก็ตาม

      ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) กล่าวว่า :

آيَةُ الْمُنَافِقِ ثَلاثٌ إِذَا حَدَّثَ كَذَبَ ، وَإِذَا وَعَدَ أَخْلَفَ ، وَإِذَا اؤْتُمِنَ خَانَ

"เครื่องหมายของผู้สับปลับ (มุนาฟิก) มีสามประการ คือ เมื่อเขาพูด เขาจะโกหก และเมื่อเขาสัญญา เขาจะละเมิด และเมื่อเขาได้รับความไว้วางใจ เขาจะบิดพลิ้ว" (2)

     "นิฟาก" (ความสับปลับ) คือลักษณะหนึ่งของการโกหกหลอกลวงทางด้านการกระทำและความเชื่อ และการโอ้อวด (ริยาอ์) ก็เป็นลักษณะหนึ่งของ "นิฟาก" (ความสับปลับ) ยิ่งไปกว่านั้นริวายะฮ์ (คำรายงาน) ถือว่าเป็นประเภทหนึ่งของการตั้งภาคี (ชิรก์) ต่อพระเจ้า

      ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้กล่าวว่า :

 ان اخوف ما اخاف علیکم الشرک الاصغر. قالوا : و ما الشرک الاصغر یا رسول الله؟ قال : الریا، یقول الله تعالی یوم القیامه اذا جاء الناس باعمالهم اذهبو الی الذین کنتم ترائون فی الدنیا، فانظروا هل تجدون عندهم من جزاء؟!

"สิ่งที่ฉันหวั่นกลัวที่สุดที่จะเกิดขึ้นกับพวกท่าน คือ การตั้งภาคีเล็ก" บรรดาสาวกได้ถามว่า : "โอ้ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ อะไรคือการตั้งภาคีเล็ก?" ท่านตอบว่า : "มันคือ การโอ้อวด ในวันกิยามะฮ์ อัลลอฮ์ ผู้ทรงสูงส่งจะทรงตรัสเมื่อหมู่ชนได้มาพร้อมกับอะมั้ล (การกระทำ) ต่างๆ ของพวกเขาว่า พวกเจ้าจงไปยังบรรดาผู้ที่พวกเจ้าได้โอ้อวดพวกเขาในขณะที่อยู่ในโลก (ดุนยา) เถิด แล้วดูซิว่าพวกเจ้าจะพบผลตอบแทน ณ พวกเขาหรือไม่ " (3)

แหล่งที่มา :

1.อัลกุรอานบทอัลบากอเราะฮ์ โองการที่ 8

2.ซอเฮี๊ยะฮ์ มุสลิม, กิตาบุลอีมาน, ฮะดีษที่ 89

3.บิฮารุ้ลอันวาร, เล่ม72, หน้า 303


แปลและเรียบเรียง : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

Copyright © 2018 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่

ผู้เยี่ยมชมอยู่ขณะนี้

มี 817 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์

9826164
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
31532
66939
301709
9045061
1677698
2060970
9826164

พฤ 25 เม.ย. 2024 :: 11:35:17