ชัยชนะขั้นสุดท้าย ของสัจธรรมเหนือความเท็จ
Powered by OrdaSoft!
No result.

ชัยชนะขั้นสุดท้าย ของสัจธรรมเหนือความเท็จ

เมื่อใดก็ตามที่ปัจจัยขั้นพื้นฐานหรือความเป็นไปได้ในการยืนหยัดต่อสู้ได้ถูกเตรียมพร้อมสำหรับคนกลุ่มหนึ่งจากประชาชาติทั้งหลาย พวกเขาก็จะลุกขึ้นทำการต่อสู้กับรัฐบาลที่อธรรมและกดขี่ทันที และการยืนหยัดต่อสู้เหล่านี้ ผลของมันก็คือชัยชนะของฝ่ายสัจธรรม (ผู้ยืนหยัดต่อสู้)

وَقُلْ جَاءَ الْحَقُّ وَزَهَقَ الْبَاطِلُ  إِنَّ الْبَاطِلَ كَانَ زَهُوقًا

“และจงกล่าวเถิด เมื่อสัจธรรมมา ความเท็จย่อมมลาย แท้จริงความเท็จนั้นย่อมมลายอย่างแน่นอน” (1)

      หนึ่งในความหวังและอุดมคติที่เก่าแก่ของมนุษย์ คือการถูกถอนรากถอนโคนของความอธรรมและการกดขี่ออกไปจากสังคม และการที่สันติภาพความสงบสุขและการดำรงความยุติธรรมจะปกคลุมไปทั่วทุกมุมโลก แนวความคิดเช่นนี้จึงสอดคล้องและประสานกลมกลืนกับธรรมชาติของมนุษย์ ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้เอง เมื่อใดก็ตามที่ปัจจัยขั้นพื้นฐานหรือความเป็นไปได้ในการยืนหยัดต่อสู้ได้ถูกเตรียมพร้อมสำหรับคนกลุ่มหนึ่งจากประชาชาติทั้งหลาย พวกเขาก็จะลุกขึ้นทำการต่อสู้กับรัฐบาลที่อธรรมและกดขี่ทันที และการยืนหยัดต่อสู้เหล่านี้ ผลของมันก็คือชัยชนะของฝ่ายสัจธรรม (ผู้ยืนหยัดต่อสู้)

      แต่อย่างไรก็ตาม ประการแรก ชัยชนะเหล่านี้จะเกิดขึ้นในมุมหนึ่งมุมใดของโลกเท่านั้น โดยมิได้ครอบคลุมไปทั่วทุกมุมของโลก ประการที่สอง เป็นไปได้ว่ากลุ่มที่ได้รับชัยชนะและขึ้นมาทำหน้าที่ปกครองนี้ ด้วยกับการผ่านพ้นไปของกาลเวลาก็จะเบี่ยงเบนออกจากเป้าหมายและอุดมคติต่างๆ ของตนเอง และก็กลับกลายมาเป็นทรราชครอบงำเหนือประชาชนอีกครั้งหนึ่ง

      ดังนั้นตลอดระยะเวลาแห่งประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ประชาชนได้ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของผู้มีอำนาจที่วางรากฐานการปกครองของพวกเขาบนพื้นฐานของความอธรรม การกดขี่ การทุจริตและความไม่สงบสุข ดังเช่นที่คัมภีร์อัลกุรอานได้อ้างถึงคำพูดของสมเด็จพระราชินีแห่งเชบา (Queen of Sheba) หรือซะบะอ์ ที่กล่าวกับศาสดาสุไลมาน (อ.) หรือกษัตริย์ซาโลมอน ว่า :

إِنَّ الْمُلُوكَ إِذَا دَخَلُوا قَرْيَةً أَفْسَدُوهَا وَجَعَلُوا أَعِزَّةَ أَهْلِهَا أَذِلَّةً  وَكَذَٰلِكَ يَفْعَلُونَ

“แท้จริงเหล่ากษัตริย์นั้น เมื่อเข้าไปในเมืองใดก็ตาม พวกเขาจะก่อความเสียหาย (และทำลาย) มัน และจะทำให้บรรดาผู้มีอำนาจของเมืองนั้นเป็นผู้ต่ำต้อย และเช่นนั้นแหละพวกเขาจะกระทำกัน” (2)

      ในหลายๆ โองการของคัมภีร์อัลกุรอานได้แจ้งข่าวดีไว้อย่างหนักแน่นเกี่ยวกับชัยชนะขั้นสุดท้าย และการมาถึงของวันที่สัจธรรมจะปกครองเหนือทั่วทุกมุมของโลกและรากฐานของการปกครองของความเท็จจะถูกถอนรากถอนโคนออกไป และบรรดาผู้มีคุณธรรมจะสืบทอดมรดกการปกครองในหน้าแผ่นดิน และในริวายะฮ์ (คำรายงาน) จำนวนมากจากทั้งฝ่ายชีอะฮ์และซุนหนี่ ได้กล่าวถึงชัยชนะขั้นสุดท้ายว่าเกี่ยวข้องกับการยืนหยัดต่อสู้ของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.)

      ในเนื้อหาต่างๆ ก่อนหน้านี้ เราได้ชี้ให้เห็นบางส่วนจากโองการอัลกุรอานและคำรายงาน (ริวายะฮ์) เหล่านี้ไปแล้ว ในที่นี้เราจะมาพิจารณาโองการที่ได้นำเสนอไว้ข้างต้น โองการนี้ได้แจ้งข่าวดีอย่างชัดเจนถึงการมาของสัจธรรม การสิ้นสลายและความพินาศของความเท็จ โดยกล่าวว่า :

وَقُلْ جَاءَ الْحَقُّ وَزَهَقَ الْبَاطِلُ  إِنَّ الْبَاطِلَ كَانَ زَهُوقًا

“และจงกล่าวเถิด เมื่อสัจธรรมมา ความเท็จย่อมมลาย แท้จริงความเท็จนั้นย่อมมลายอย่างแน่นอน” (3)

      เพื่อที่จะอธิบายและให้ความกระจ่างเกี่ยวกับวิธีการของการบรรลุความจริงของสัญญานี้ พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงเปรียบเปรยความเท็จเหมือนกับฟองน้ำต่างๆ ที่ลอยอยู่เหนือน้ำและจะแตกสลายไป และทรงเปรียบเปรยสัจธรรมว่าเป็นเหมือนกับน้ำที่ให้คุณประโยชน์และจะยังคงอยู่ในแผ่นดินนี้  โลหะที่จะถูกหลอมละลายด้วยไฟเพื่อจะทำเป็นเครื่องประดับหรือเครื่องใช้ในชีวิต ก็จะมีฟองหรือสิ่งเหลือเดนเช่นเดียวกัน พระผู้เป็นเจ้าทรงตรัสว่า :

أَنزَلَ مِنَ السَّمَاءِ مَاءً فَسَالَتْ أَوْدِيَةٌ بِقَدَرِهَا فَاحْتَمَلَ السَّيْلُ زَبَدًا رَّابِيًا وَمِمَّا يُوقِدُونَ عَلَيْهِ فِي النَّارِ ابْتِغَاءَ حِلْيَةٍ أَوْ مَتَاعٍ زَبَدٌ مِّثْلُهُ كَذَٰلِكَ يَضْرِبُ اللَّهُ الْحَقَّ وَالْبَاطِلَ فَأَمَّا الزَّبَدُ فَيَذْهَبُ جُفَاءً وَأَمَّا مَا يَنفَعُ النَّاسَ فَيَمْكُثُ فِي الْأَرْضِ كَذَٰلِكَ يَضْرِبُ اللَّهُ الْأَمْثَالَ

“พระองค์ทรงประทานน้ำลงมาจากฟากฟ้า แล้วลำน้ำต่างๆ ก็ไหลไปตามปริมาณของมัน กระแสน้ำได้พัดพาเอาฟองลอยอยู่เหนือน้ำ และจากสิ่งที่พวกเขาหลอมลงไปในไฟ เพื่อหวังทำเครื่องประดับหรือเครื่องใช้ก็จะมีฟองเช่นกัน ในทำนองนั้นอัลลอฮทรงยกตัวอย่างความจริงและความเท็จ สำหรับฟองนั้นก็จะออกไปเป็นสิ่งเหลือเดน ส่วนที่เป็นประโยชน์แก่มนุษย์ก็คงจะอยู่ในแผ่นดิน ในทำนองนั้น อัลลอฮ์ทรงยกอุทาหรณ์ทั้งหลาย” (4)

      อุปมาอุปมัยที่พระผู้เป็นเจ้าทรงกล่าวถึงนั้น เพียงพอแล้วสำหรับเราที่จะเข้าใจว่าทำไมสัจธรรมจึงดำรงอยู่และความเท็จจะต้องสิ้นสลาย สัจธรรมนั้นเปรียบได้ดั่งน้ำและโลหะที่มีความเป็นจริงและจะดำรงอยู่ และความเท็จนั้นเป็นเหมือนฟองที่ลอยอยู่บนผิวน้ำที่จะต้องสลายไปในที่สุด สัจธรรมนั้นเปรียบได้ดั่งน้ำและโลหะที่มีคุณค่าและเป็นประโยชน์และมีความเสถียรมั่นคง และความเท็จนั้นเปรียบได้ดั่งฟองน้ำ ถึงแม้จะมีเสียงดังและดูแวววาวสวยงาม แต่กลวง ไร้ประโยชน์และสิ้นสลายไปในที่สุด เนื่องจากน้ำนั้นเป็นสิ่งที่มั่นคงถาวรและความเท็จไม่ใช่สิ่งที่มั่นคงถาวร ทำนองเดียวกับที่น้ำและโลหะนั้นจะเป็นสาเหตุทำให้ฟองอากาศสิ้นสลายไป ในกระบวนการของสัจธรรมและความเท็จก็เช่นเดียวกัน ซึ่งสัจธรรมจะพิชิตเหนือความเท็จและทำลายความเท็จให้หมดไป ดั่งเช่นที่พระผู้เป็นเจ้าทรงตรัสว่า :

بَلْ نَقْذِفُ بِالْحَقِّ عَلَى الْبَاطِلِ فَيَدْمَغُهُ فَإِذَا هُوَ زَاهِقٌ

“แต่ว่าเราได้ให้สัจธรรมทำลายความเท็จ แล้วมันก็ให้ความเท็จนั้นเสียหายไป แล้วมันก็จะมลายสิ้นไป” (5)

     ในโองการที่กำลังพูดถึงนี้ พระผู้เป็นเจ้ายังได้ทรงแจ้งข่าวเกี่ยวกับการมาของสัจธรรมและการถูกทำลายของความเท็จ เมื่อพิจารณาถึงเนื้อหาต่างๆ ที่ได้อธิบายไปแล้วนั้นเป็นที่ชัดเจนว่า สัจธรรมนั้นเนื่องจากประกอบไปด้วยความเป็นจริงและความถูกต้อง หยั่งรากลึกและสอดคล้องกับกฎเกณฑ์แห่งการสร้างของพระผู้เป็นเจ้า มีความมั่นคง มีคุณค่า เป็นสิ่งที่มาจากพระผู้เป็นเจ้าและเป็นสิ่งที่ได้รับการสนับสนุนจากพระองค์และจะดำรงอยู่อย่างมั่นคง ส่วนความเท็จเนื่องจากเป็นสิ่งที่โกหก จอมปลอม ไร้แก่นสาร ไร้คุณประโยชน์ ไม่สอดคล้องกันกับธรรมชาติแห่งการสร้างของพระผู้เป็นเจ้าและมาจากมารร้าย (ชัยฏอน) ดังนั้นมันจึงเป็นสิ่งที่จะต้องอันตรธานและถูกทำลายไป

      ประเด็นที่น่าสนใจในโองการนี้และในโองการอื่นๆ ที่คล้ายกันนี้ก็คือ ในที่นี้ไม่ได้พูดถึงการพิชิตของสัจธรรมเหนือความเท็จ แต่พูดถึงการปรากฏอย่างสมบูรณ์ของสัจธรรมและการสิ้นสลายอย่างสมบูรณ์ของความเท็จ ความเท็จนั้นเป็นไปได้ว่าอาจจะปรากฏตัวขึ้นในช่วงระยะเวลาสั้นๆ แต่ในที่สุดแล้วอายุขัยของมันนั้นสั้นและก็จะดับลง

      สัจธรรมนั้นเหมือนกับต้นไม้ที่มีรากแก้วที่หยั่งรากฝังลึกและมีผลมากมาย โดยที่พายุร้ายและลมที่รุนแรงก็ไม่สามารถที่จะถอนรากถอนโคนมันออกไปได้ และความเท็จก็เหมือนกับต้นไม้ที่ไร้รากที่ล้มอยู่บนพื้นดิน ไม่มีการเจริญเติบโต ไม่ให้ผลและไร้ความมั่นคงยั่งยืน

ปัจจัยที่ทำให้ผู้ที่อยู่กับความเท็จมีอำนาจปกครอง

     จนถึงขณะนี้เป็นการพูดถึงชัยชนะของสัจธรรมที่มีเหนือความเท็จ แต่ในบางโอกาสการเผชิญหน้ากันระหว่างสัจธรรมกับความเท็จนั้น ฝ่ายที่อยู่กับความเท็จกลับเป็นผู้ชนะและได้รับอำนาจปกครอง กระทั่งว่าบางครั้งจะพบว่าสังคมก็จะให้การต้อนรับฝ่ายที่อยู่กับความเท็จนี้ด้วย ประเด็นอยู่ตรงที่ว่า อะไรคือปัจจัยของชัยชนะนี้ และอะไรคือสาเหตุที่ทำให้สังคมยอมรับมัน เป็นไปได้ว่าอาจจะมีหลายปัจจัยที่มีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ แต่เราจะมาพิจารณาในที่นี้เพียงสองปัจจัยที่สำคัญ

ปัจจัยประการแรก : การปรากฏตัวของความเท็จในรูปโฉมของสัจธรรม

      หากบรรดาผู้ที่อยู่ในฝ่ายของความเท็จได้ปกปิดโฉมหน้าที่แท้จริงของตัวเอง สวมใส่เสื้อคลุมแห่งสัจธรรม พูดภาษาของผู้ที่อยู่กับสัจธรรม และผู้ที่อยู่กับสัจธรรมบางคนก็คบหาสมาคมอยู่กับพวกเขา และพวกเขาก็แสดงออกทางภายนอกด้วยพฤติกรรมที่เหมือนกับผู้คนที่อยู่กับสัจธรรม สังคมก็จะให้การต้อนรับพวกเขา แต่หากวันใดที่เล่ห์เหลี่ยมกลลวงและธาตุแท้ของพวกเขาปรากฏชัดขึ้น และหน้ากากของพวกเขาได้ถูกเปิดเผย พวกเขาก็จะไม่มีที่อยู่อีกต่อไป

      ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวว่าในเรื่องนี้ :

فَلَوْ أَنَّ الْبَاطِلَ خَلَصَ مِنْ مِزَاجِ الْحَقِّ لَمْ يَخْفَ عَلَى الْمُرْتَادِينَ وَ لَوْ أَنَّ الْحَقَّ خَلَصَ مِنْ لَبْسِ الْبَاطِلِ انْقَطَعَتْ عَنْهُ أَلْسُنُ الْمُعَانِدِينَ وَ لَكِنْ يُؤْخَذُ مِنْ هَذَا ضِغْثٌ وَ مِنْ هَذَا ضِغْثٌ فَيُمْزَجَانِ فَهُنَالِكَ يَسْتَوْلِي الشَّيْطَانُ عَلَى أَوْلِيَائِهِ

“หากความเท็จบริสุทธิ์จากการผสมผสานกับสัจธรรม ก็จะไม่เป็นที่ปกปิดสำหรับบรรดาผู้แสวงหาสัจธรรม และหากสัจธรรมบริสุทธิ์จากการเคลือบแฝงไว้ด้วยความเท็จแล้ว ลิ้น (วาจาคำพูด) ของบรรดาศัตรูก็จะถูกตัดลง แต่ทว่าได้ถูกนำมาจากสัจธรรมส่วนหนึ่งและถูกนำมาจากความเท็จอีกส่วนหนึ่งและถูกผสมผสานเข้าด้วยกัน และด้วยวิธีการเช่นนี้เองที่มารร้าย (ชัยฏอน) จะทำการครอบงำเหนือมวลมิตรของมัน” (6)

ปัจจัยประการที่สอง : ความสามัคคีและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในฝ่ายความเท็จ

      หากพิจารณาถึงประวัติศาสตร์การดำเนินชีวิตของมนุษยชาติ สามารถประจักษ์ได้ถึงประเด็นหนึ่งที่ว่า เมื่อใดก็ตามที่ฝ่ายที่อยู่กับความเท็จได้ทุ่มเทความอุตสาห์พยายามในการดำเนินการต่างๆ ของตน และในหมู่กองกำลังของพวกเขามีความเป็นเอกภาพและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และพวกเขาเชื่อฟังต่อผู้นำของเขา และทางตรงข้ามก็สามารถทำให้ความสิ้นหวังเข้าครอบงำอยู่เหนือฝ่ายที่อยู่กับสัจธรรม และในหมู่พวกเขาเหล่านั้นมีความแตกแยกทางความคิด ขาดการประสานความร่วมมือและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และไม่ปฏิบัติตามผู้นำของตนเองได้แล้ว ในกรณีเช่นนี้เองที่ชัยชนะจะเป็นของฝ่ายที่อยู่กับความเท็จ เกี่ยวกับอนาคตของชาวอิรัก ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวกับพวกเขาเช่นนี้ว่า :

أَمَا وَالَّذِي نَفْسِي بِيَدِهِ لَيَظْهَرَنَّ هَؤُلَاءِ الْقَوْمُ عَلَيْكُمْ لَيْسَ لِأَنَّهُمْ أَوْلَى بِالْحَقِّ مِنْكُمْ وَلَكِنْ لِإِسْرَاعِهِمْ إِلَى بَاطِلِ صَاحِبِهِمْ وَإِبْطَائِكُمْ عَنْ حَقِّي

“พึงสังวรเถิด! ขอสาบานต่อพระผู้ซึ่งชีวิตของฉันอยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์ ชนกลุ่มนั้น (หมายถึงมุอาวิยะฮ์และไพร่พลของเขา) จะพิชิตเหนือพวกท่านอย่างแน่นอน มิใช่ว่าพวกเขาควรคู่ต่อสัจธรรม (มากกว่าพวกท่าน) แต่เนื่องจากพวกเขารีบรุดสู่ความเท็จจากผู้นำของพวกเขา ในขณะที่พวกท่านล่าช้าอ้อยอิ่งจากสิทธิอันชอบธรรมของฉัน” (7)

     ดังนั้นจะต้องไม่มองแค่เพียงว่าปัจจัยของชัยชนะนั้นอยู่ในการมีความเชื่อมั่นต่อสัจธรรมและการมีเจตนาที่ดีเพียงเท่านั้น แต่ทว่าเพื่อที่จะเอาชนะเหนือศัตรูนั้น ยังจำเป็นต้องมีเอกภาพ ความสามัคคี ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและการเชื่อฟังผู้นำด้วย กลุ่มใดก็ตามที่มีคุณลักษณะเช่นนี้มากกว่า ชัยชนะก็จะเป็นของพวกเขา ตัวอย่างต่างๆ ของโองการนี้ซึ่งก็เป็นที่รับรู้กันแล้วว่า สาส์นของโองการนี้คือการแจ้งข่าวดีถึงชัยชนะของสัจธรรมเหนือความเท็จ ความพินาศและการสิ้นสลายอย่างสมบูรณ์ของความเท็จ ในเนื้อหาส่วนต่อไปนี้ เราจะกล่าวถึงกรณีตัวอย่างชัยชนะของสัจธรรมที่จะสามารถมีเหนือความเท็จได้

1. สัจธรรมหมายถึงศาสนาแห่งพระผู้เป็นเจ้าและบทบัญญัติของมุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ผู้เป็นศาสดาท่านสุดท้าย (คอตะมุนนะบียีน) และความเท็จนั้นหมายถึงทุกศาสนาและแนวทางที่เบี่ยงเบนออกไปจากแนวทางของพระผู้เป็นเจ้า ดังเช่นที่มีปรากฏอยู่ในริวายะฮ์ (คำรายงาน) จากอิบนิมัสอูดว่า ในปีของการพิชิตนครมักกะฮ์ ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้เข้าสู่ "นครมักกะฮ์" ในสภาพที่รอบๆ บริเวณอาคารกะอ์บะฮ์นั้น มีรูปปั้นบูชาถึงจำนวน 360 รูป และท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้ใช้ไม้ที่อยู่ในมือของท่านฟาดไปที่รูปเจว็ดเหล่านั้น พร้อมกับอ่านโองการนี้ แล้วรูปเจว็ดเหล่านั้นก็คว่ำคะมำลงสู่พื้นดิน

2. สัจธรรมคือการยอมรับในเอกานุภาพของพระเจ้า (เตาฮีด) และการเคารพภักดีพระองค์ ส่วนความเท็จนั้นคือการตั้งภาคีต่อพระเจ้าและเคารพบูชาเจว็ดทั้งหลาย

3. สัจธรรมคืออัลกุรอาน ส่วนความเท็จนั้นคือมาร (ชัยฏอน)

4. สัจธรรมคือความยุติธรรมและความเที่ยงธรรม ส่วนความเท็จนั้นคือความอธรรม การกดขี่และความเป็นศัตรู

5. สัจธรรมคือคุณค่าต่างๆ ทางศีลธรรม และการแสวงหาความสมบูรณ์ในด้านต่างๆ ส่วนความเท็จคือความชั่วร้ายและความเลวทรามต่างๆ ทางด้านศีลธรรม และการออกห่างจากความสมบูรณ์แห่งความเป็นมนุษย์

      คำกล่าวอ้างของเราก็คือว่า โองการนี้มีความหมายที่กว้างขวางและครอบคลุมทุกกรณีเหล่านี้ ดังนั้นสาส์นของโองการนี้ก็คือ ศาสนาอิสลาม การเคารพภักดีพระเจ้าองค์เดียว คัมภีร์อัลกุรอาน ความยุติธรรมและคุณค่าต่างๆ ทางศีลธรรม จะมีชัยชนะเหนือการปฏิเสธ การเคารพบูชาพระเจ้าจอมปลอมหลายองค์ มารร้าย (ชัยฏอน) ความอธรรม การกดขี่และความชั่วร้ายทางศีลธรรม และท้ายที่สุดอำนาจอธิปไตยจะเป็นของสัจธรรม

      ตัวอย่างอีกประการหนึ่งของโองการนี้ คือการปรากฏกาย (ซุฮูร) ของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) ดั่งเช่นที่มีรายงานว่า เมื่อท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) ถือกำเนิดขึ้น โองการนี้จะถูกเขียนอยู่บนแขนขวาของท่าน (8) ในอีกคำรายงานหนึ่งจากท่านอิมามซอดิก (อ.) ซึ่งท่านได้กล่าวเกี่ยวกับโองการนี้ว่า :

اِذا قامَ القائِمُ ذَهَبَتْ دَولَةُ الباطِلِ

“เมื่อกออิม (มะฮ์ดี) ยืนหยัดขึ้น รัฐบาลเท็จจะถูกทำลายไป"

     ในช่วงเวลานี้เองความยุติธรรมและความเที่ยงธรรมจะปกคลุมไปทั่วทุกมุมของโลก และจะไม่เหลือที่ยืนสำหรับผู้กดขี่และพวกทรราช แต่ก่อนที่วันดังกล่าวจะบรรลุความจริงขึ้นมานั้น ความอธรรมและการกดขี่จะปกคลุมไปทั่วโลก ในริวายะฮ์ (คำรายงาน) จากอะฮ์ลิซซุนนะฮ์ ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ไว้เช่นนี้ว่า :

لَتَمْلَئَنَّ الْأَرْضُ ظُلْمًا وَ عُدْوَانًا، ثُمَّ لَيَخْرُجَنَّ رَجُلٌ مِنْ أَهْلِ بَيْتِي، حَتَّى يَمْلَأَهَا قِسْطًا وَ عَدْلاً كَمَا مُلِئَتْ ظُلْمًا وَ عُدْوَانًا

“แน่นอนยิ่งโลกจะเต็มไปด้วยความอธรรมและการเป็นศัตรู แล้วหลังจากนั้นแน่นอนยิ่งบุรุษผู้หนึ่งจากอะฮ์ลุลบัยติ์ (ครอบครัว) ของฉันจะยืนหยัดขึ้น จนกระทั่งเขาจะทำให้มันเต็มเปี่ยมไปด้วยความเที่ยงธรรมและความยุติธรรม เช่นเดียวกับที่มันได้เต็มเปี่ยมไปด้วยความอธรรมและการเป็นศัตรู” (9)

     การที่โลกเต็มเปี่ยมไปด้วยเที่ยงธรรมและความยุติธรรมนั้น เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่าจะไม่มีที่ใดที่ความอธรรมและการกดขี่หลงเหลืออยู่ ในอีกริวายะฮ์ (คำรายงาน) หนึ่ง ในการย้ำถึงการเกิดขึ้นของวันดังกล่าว โดยอ้างวจนะของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ซึ่งกล่าวว่า :

لَوْ لَمْ يَبْقَ مِنَ الدُّنْيَا إِلاَّ يَوْمٌ لَبَعَثَ اللَّهُ عَزَّ وَجَلَّ رَجُلاً مِنَّا يَمْلَؤُهَا عَدْلاً كَمَا مُلِئَتْ جَوْراً

“หากไม่มีเวลาเหลืออยู่อีกแล้วสำหรับโลกนี้ นอกจากเพียงวันเดียว อัลลอฮ์ผู้ทรงเกริกเกียรติผู้ทรงเกรียงไกร ก็จะทรงส่งบุรุษผู้หนึ่งจากเรา (อะฮ์ลุลบัยติ์) มาอย่างแน่นอน เขาจะทำให้โลกนี้เต็มเปี่ยมไปด้วยความยุติธรรม ดังเช่นที่มันได้ถูกทำให้เต็มไปด้วยการกดขี่” (10)

     ในวันดังกล่าวนี้ ศาสนาของพระผู้เป็นเจ้าจะพิชิตเหนือศาสนาทั้งหลาย และเป้าหมายของการส่งปวงศาสดาแห่งพระผู้เป็นเจ้าลงมาก็จะบรรลุผล ทั้งนี้เนื่องจากพระผู้เป็นเจ้าได้ทรงตรัสเกี่ยวกับเป้าหมายในการแต่งตั้งปวงศาสดา (อ.) ลงมา เช่นนี้ว่า :

هُوَ الَّذِي أَرْسَلَ رَسُولَهُ بِالْهُدَى وَدِينِ الْحَقِّ لِيُظْهِرَهُ عَلَى الدِّينِ كُلِّهِ وَلَوْ كَرِهَ الْمُشْرِكُونَ

“พระองค์คือผู้ทรงส่งศาสนทูตของพระองค์ด้วยการชี้นำทางและศาสนาแห่งสัจธรรม เพื่อพระองค์จะทรงให้มันพิชิตเหนือศาสนาทั้งมวล ถึงแม้พวกตั้งภาคีจะเกลียดชังก็ตาม” (11)

      ท่านชะฮีดมุเฏาะฮ์ฮะรี ได้อธิบายถึงชัยชนะขั้นสุดท้ายของฝ่ายสัจธรรมไว้เช่นนี้ว่า : จากโองการอัลกุรอานและริวายะฮ์ (คำรายงาน) ทั้งหมดในเรื่องนี้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การยืนหยัดต่อสู้ของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) ผู้ถูกสัญญาไว้นั้น จะเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการต่อสู้ระหว่างสัจธรรมกับความเท็จที่ได้ดำเนินมานับตั้งแต่เริ่มต้นของการสร้างโลก ท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) คือผู้ที่จะทำให้เป้าหมายและอุดมคติของปวงศาสดาและเอาลิยาอ์ (ผู้เป็นที่รัก) ของพระผู้เป็นเจ้า และผู้ที่ต่อสู้ในทางของสัจธรรมบรรลุความเป็นจริง (12)

      เพื่อที่จะบรรลุสู่เป้าหมายนี้ เราทุกคนจำเป็นจะต้องมีการเตรียมพร้อม และสิ่งนี้จะเกิดขึ้นจริงได้ก็ต่อเมื่อทุกๆ ด้านของการดำเนินชีวิตของเราไม่ว่าจะเป็นกิจการต่างๆ ที่เป็นเรื่องส่วนบุคคลและสังคม พฤติกรรมและการกระทำต่างๆ ของเราจะต้องวางอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้องและเที่ยงตรง และบางทีด้วยเหตุผลนี้เองที่ว่า ก่อนที่โองการจะพูดถึงเกี่ยวกับข่าวดีในการมาของสัจธรรมและการมลายสิ้นของความเท็จนั้น พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงสอนเราให้วิงวอนขอเช่นนี้ว่า :

وَقُل رَّبِّ أَدْخِلْنِي مُدْخَلَ صِدْقٍ وَأَخْرِجْنِي مُخْرَجَ صِدْقٍ وَاجْعَل لِّي مِن لَّدُنكَ سُلْطَانًا نَّصِيرًا

“และจงกล่าวว่า ข้าแต่พระผู้อภิบาลของข้าพระองค์ โปรดนำข้าพระองค์เข้าตามทางเข้าที่ชอบธรรม และโปรดนำข้าพระองค์ออกตามทางออกที่ชอบธรรม และโปรดให้ข้าพระองค์มีอำนาจที่เข้มแข็ง ซึ่งได้รับการช่วยเหลือจากพระองค์” (13)


เชิงอรรถ :

(1) อัลกุอานบท อัลอิสรออ์ โองการที่ 81

(2) อัลกุอานบท อันนัมลิ์ โองการที่ 34

(3) อัลกุอานบท อัลอิสรออ์ โองการที่ 81

(4) อัลกุอานบท อัรเราะอ์ดุ โองการที่ 17

(5) อัลกุอานบท อัลอันบิยาอ์ โองการที่ 18

(6) นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, คุฏบะฮ์ (ธรรมเทศนา) ที่ 50

(7) นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, คุฏบะฮ์ (ธรรมเทศนา) ที่ 96

(8) ตัฟซีร นูรษะกอลัยน์, เล่มที่ 3, หน้าที่ 213

(9) กันซุลอุมมาล, เล่มที่ 14, หน้าที่ 266, ฮะดีษที่ 3867

(10) มุสนัด อะห์มัด อิบนิฮันบัล, เล่มที่ 2, หน้าที่ 774

(11) อัลกุรอานบทอัตเตาบะฮ์ โองการที่ 33 ; และบทอัศศ็อฟฟุ โองการที่ 9

(12) กิยาม วะอิงกิลาบุ มะฮ์ดี (อ.), หน้าที่ 26

(13) อัลกุอานบท อัลอิสรออ์ โองการที่ 80


บทความ : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

Copyright © 2018 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่

ผู้เยี่ยมชมอยู่ขณะนี้

มี 812 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์

9835677
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
41045
66939
311222
9045061
1687211
2060970
9835677

พฤ 25 เม.ย. 2024 :: 15:11:19