จงพยายามทำตัวเองให้อยู่ในสายตาของอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.)
Powered by OrdaSoft!
No result.
จงพยายามทำตัวเองให้อยู่ในสายตาของอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.)

ความหวังของผู้ที่มีความรักและศรัทธาต่อท่านอิมามซะมาน (อ.ญ.) ทุกคนก็คือ วันหนึ่งจะได้เห็นท่านและจะทำให้ดวงตาของตนชื่นฉ่ำและหัวใจของตนเอิ่มเอมและปลื้มปิติจากสิ่งดังกล่าว ทว่าจำเป็นที่เราจะต้องรับรู้ว่าสิ่งที่สำคัญยิ่งไปกว่า “การเห็น” นั้นก็คือ “การถูกมองเห็น”

     กล่าวคือ เราจำเป็นจะต้องกระทำและปฏิบัติตนในลักษณะที่จะทำให้ท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) พึงพอใจและมองมายังเรา หรือกล่าวตามสำนวนชาวบ้านทั่วไปก็คือ ทำให้ท่าน “เห็นเราอยู่ในสายตาของท่าน”

ในความเป็นจริงแล้วเรามีการมองเห็นอยู่สองแบบ :

    1. การมองแบบแรกคือ การมองโดยภาพรวม (อุมูม) หรือการมองเห็นโดยทั่วไป ตัวอย่างเช่น เนื่องจากหนึ่งในพระนามและคุณลักษณะ (ซิฟัต) ของอัลลอฮ์ นั่นคือ “อัลบะซีร” (ผู้ทรงแลเห็น) ดังนั้นพระองค์จึงทรงมองเห็นมนุษย์ มองเห็นสรรพสิ่งและกิจการต่าง ๆ ทั้งมวล คัมภีร์อัลกุรอานกล่าว :

إِنَّهُ بِكُلِّ شَيْءٍ بَصِيرٌ

             “แท้จริงพระองค์คือผู้ทรงมองเห็นทุกสรรพสิ่ง”

(บทอัลมุลก์ โองการที่ 19)

    2. การมองแบบที่สอง คือการมองแบบเฉพาะ (คุศูศ) ซึ่งในการมองแบบนี้จะมีลักษณะของการให้ความสนใจ การให้ความสำคัญ ความกรุณาและการให้เกียรติเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ยกตัวอย่างเช่น ในคัมภีร์อัลกุรอาน ได้กล่าวว่า พระผู้เป็นเจ้าผู้ซึ่งทรงมองเห็นทุกสรรพสิ่งนั้น ในวันกิยามะฮ์พระองค์จะไม่ทรงมองไปยังคนกลุ่มหนึ่ง คือไม่เห็นคนกลุ่มนั้นอยู่ในพระเนตรของพระองค์ ดังที่คัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวว่า :

وَلَا يُكَلِّمُهُمُ اللَّهُ وَلَا يَنظُرُ إِلَيْهِمْ يَوْمَ الْقِيَامَةِ

“และอัลลอฮ์จะไม่ทรงพูดกับพวกเขา (เนื่องจากความพิโรธ) และจะไม่ทรงมองดูพวกเขา (ด้วยสายตาแห่งความเมตตา) ในวันกิยามะฮ์”

(บทอาลิอิมรอน โองการที่ 77)

     ท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) ก็เช่นเดียวกัน ในฐานะที่เป็น “ค่อลีฟะตุลลอฮุ ฟิลอัรฎ์” (ตัวแทนของอัลลอฮ์ในหน้าแผ่นดิน) และค่อลีฟะฮ์นั้นจำเป็นต้องมีคุณลักษณะ (ซิฟัต) ของผู้มอบหมายให้เป็นตัวแทน (มุสตัคละฟุ อันฮ์) อยู่ในตัวเอง ดังนั้นท่านก็จำเป็นต้องมีการมองเห็นทั้งสองแบบนี้ด้วย ในการมองแบบภาพรวม (อุมูม) หรือการมองเห็นโดยทั้วไปของท่านอิมาม (อ.) นั้น ท่านจะเห็นและรับรู้ถึงสภาพ พฤติกรรมและการกระทำต่าง ๆ ของเราทั้งหมด ดั่งเช่นที่ในคัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวว่า :

وَ قُلِ اعْمَلُوا فَسَيَرَى اللَّهُ عَمَلَكُمْ وَ رَسُولُهُ وَ الْمُؤْمِنُون

“จงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด) ว่า พวกท่านจงกระทำ (งาน) เถิด แล้วอัลลอฮ์จะทรงเห็นการงานของพวกท่าน และศาสนทูตของพระองค์และบรรดาผู้ศรัทธา (มุอ์มิน) ก็จะเห็นด้วย” (บทอัตเตาบะฮ์ โองการที่ 105)

และ “มิศดาก” (ตัวอย่าง) ที่ชัดเจนของบรรดา "มุอ์มิน” (ผู้ศรัทธา) นั่นก็คืออะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) [1]

     หรือใน “เตากีอ์” (จดหมาย) ที่ท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) ได้ส่งถึงท่านเชคมุฟีด (ร.ฎ.) นั้น ท่านกล่าวว่า :

فَإِنَّا نُحِيطُ عِلْماً بِأَنْبَائِكُمْ وَ لَا يَعْزُبُ عَنَّا شَيْ‏ءٌ مِنْ‏ أَخْبَارِكُم

“แท้จริงเรามีความรู้ครอบคลุมถึงข่าวคราว (สภาพความเป็นอยู่) ของพวกท่าน และไม่มีสิ่งใดจากเรื่องราวทั้งหลายของพวกท่านจะซ่อนเร้นไปจากเราได้” [2]

     ท่านอิมาม (อ.) ก็มีการมองแบบเฉพาะ (คุศูศ) ไปยังบุคคลบางส่วน โดยที่ในการมองแบบนี้บรรดาบุคคลดังกล่าวจะได้รับความกรุณา เอาใจใส่และได้รับความสนใจเป็นพิเศษที่เรียกว่า “อยู่ในสายตา” ของท่าน และนั่นคือกรณีของบุคคลที่ขัดเกลาตนเอง ประดับประดาตนด้วยจริยธรรมที่งดงามและเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ต่าง ๆ ที่ศาสนากำหนด คนกลุ่มนี้จะดึงดูดสายตาของท่านอิมาม (อ.) มายังตน ดังที่ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้กล่าวว่า :

مَعاشِرَ الشیعةِ! کُونوا لَنا زَیْنا وَلا تَکونوا عَلَیْنا شَیْنا

"โอ้กลุ่มชนชีอะฮ์เอ๋ย! จงเป็นเครื่องประดับสำหรับเรา และจงอย่าเป็นสื่อที่จะนำการตำหนิประณามมาสู่เรา" [3]

     ผู้ที่ประพฤติตนตามคำสอนของศาสนาและคำแนะนำสั่งสอนของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) เท่านั้น ที่จะถูกมองหรืออยู่ในสายตาแห่งความรัก ความเอื้ออาทรและความเมตตากรุณาของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.)

     ท่านอายะตุลลอฮ์อัลอุศมาญะวาดี ออมูลี ได้กล่าวว่า "เราอย่าได้รบเร้ายืนกรานที่จะเห็นท่านอิมาม (อ.) ความพยายามและความมุ่งมั่นของเราควรจะอยู่ที่ว่า (จะทำอย่างไร) ให้อิมาม (อ.) มองเห็นเรา และหาใช่เช่นนั้นแล้ว มีหลายคนที่พวกเขาได้เห็นท่านศาสดา (ซ็อลฯ) เป็นระยะเวลาที่ยาวนาน และนมาซห้าเวลาตามหลังท่าน และนั่นก็ในมัสยิดอัลนะบะวี ซึ่งเป็นมัสยิดที่ประเสริฐที่สุดบนโลกนี้รองมาจากมัสยิดิลฮะรอมด้วย แต่ปัญหาของพวกเขาก็ยังไม่ได้รับการเยียวยาแก้ไข" [4]

     หน้าที่ที่สำคัญประการหนึ่งของบรรดาผู้รอคอยท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) ผู้ปรารถนาจะได้เห็นท่านและเป็นส่วนหนึ่งในผู้ช่วยเหลือท่านในภารกิจอันยิ่งใหญ่ของท่าน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เป็นผู้อยู่ในสายตาของท่านและได้รับการยอมรับจากท่านนั้น คือการเตรียมพร้อมตนเองในทุก ๆ ด้าน การเสริมสร้างความยำเกรงต่อพระผู้เป็นเจ้า (ตักวา) การประดับประดาตนเองด้วยมารยาทที่ดีงามและจริยธรรมอันสูงส่ง และรอคอยการมาของท่านอย่างแท้จริง ด้วยการเคลื่อนไหวและการจัดเตรียมความพร้อมในมิติต่าง ๆ ไม่ใช่การนั่งรอนอนรอ

     ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้กล่าวว่า :

من سُرّ أن يكون من أصحاب القائم ، فلينتظر وليعمل بالورع ومحاسن الأخلاق وهو منتظر ، فإن مات وقام القائم بعده كان له من الأجر مثل أجر من أدركه ، فجدّوا وانتظروا !.. هنيئاً لكم أيتها العصابة المرحومة !.

"ผู้ใดที่ปรารถนาจะเป็นสาวกของกออิม ดังนั้นเขาจงรอคอยเถิด และจงปฏิบัติตนด้วยความเคร่งครัด (วะเราะอ์) และคุณธรรมที่งดงาม ในสภาพที่เขาเป็นผู้รอคอย ดังนั้นหากเขาตายและกออิมได้ยืนหยัดขึ้นหลังจาก (การตายของ) เขา เขาก็จะได้รับผลรางวัลเหมือนกับผลรางวัลของผู้ที่อยู่พบกับกออิม ดังนั้นพวกท่านทั้งหลายจงมุ่งมั่นและจงรอคอยเถิด! .... ขอแสดงความยินดีต่อพวกท่านด้วย โอ้กลุ่มชนที่ได้รับความเมตตา!" [5]


แหล่งที่มา :

[1] อัลกาฟี, เชคกุลัยนี, เล่มที่ 1, หน้าที่ 544

[2] อัลเอี๊ยะห์ติญาจ, อัลลามะฮ์ฏ็อบริซี, เล่มที่ 2, หน้าที่ 497

[3] อัลอามาลี, เชคซอดูก, หน้าที่ 237 

[4] บทเรียนจริยธรรมประจำสัปดาห์ของท่านอายะตุลลอฮ์ญะวาดี ออมูลี

[5] อัลฆ็อยบะฮ์, อันุอ์มานี, หน้าที่ 140


บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

Copyright © 2017 SAHIBZAMAN.NET-สื่อเรียนรู้อิสลามสำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่

ผู้เยี่ยมชมอยู่ขณะนี้

มี 865 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์

9876021
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
15149
66240
351566
9045061
1727555
2060970
9876021

ศ 26 เม.ย. 2024 :: 05:55:59