ความประเสริฐของท่านอิมามฮูเซน บินอะลี (อ.) ตอนที่ 4 สาส์นของท่านฮูเซน(อ.) ถึง “บนีฮาชิม”
Powered by OrdaSoft!
No result.

สาส์นของท่านฮูเซน(อ.) ถึง “บนีฮาชิม”

    อิบนิเกาลูยะฮ์ อ้างรายงานไว้ในหนังสือ “กามิลุซ ซิยะอัต” ว่า ท่านอิมามฮูเซน (อ.) ได้เขียนจดหมายฉบับหนึ่งจากมักกะฮ์มายังน้องชายของท่านคือ มุฮัมมัด บินฮานาฟียะฮ์ และบรรดาบนีฮาชิมโดยมีเนื้อความว่า (1) “ด้วยพระนามแห่งอัลลอฮ์ผู้ทรงเมตตา ผู้ทรงปรานียิ่ง จากฮูเซน บินอะลี ถึงมุฮัมมัด บินอะลีและบนีฮาชิมที่อยู่ ณ ที่แห่งนี้ แท้จริงบุคคลใดก็ตามที่เข้าร่วมเดินทางไปกับฉันในครั้งนี้ เขาจะได้รับชะฮีด และบุคคลใดก็ตามที่หันเหจากการเข้าร่วมกับฉัน เขาจะไม่ได้สัมผัสกับชัยชนะ วัสลาม”

    อย่างไรก็ตาม ซัยยิด อิบนิฏอวูซ (รฏ.) ได้คัดลอกมาจากท่านมัรฮูม กุลัยนีย์ (รฏ.) กล่าวว่า ท่านอิมามฮูเซน (อ.) เขียนจดหมายฉบับนี้หลังจากที่ท่านเคลื่อนขบวนออกจากนครมักกะฮ์แล้ว (2) แต่อิบนิซากิร และซะฮะบีย์ สนับสนุนทัศนะของอิบนิเกาลูยะฮ์ และเขียนเพิ่มเติมว่า ภายหลังจากที่จดหมายฉบับนี้ไปถึงมะดีนะฮ์ ลูกหลานของอับดุลมุฏฏอลิบจำนวนหนึ่งได้เคลื่อนขบวนติดตามท่านอิมามไป และมุฮัมมัด บินฮานาฟียะฮ์ก็ตามขบวนมาทันที่มักกะฮ์เช่นกัน (3)

บทสรุป

    เนื้อหาของจดหมายดังกล่าวก็คือ ตั้งแต่ฮูเซน บินอะลี (อ.) เริ่มย่างก้าวเข้าสู่นครมักกะฮ์ ไม่เพียงแต่ท่านจะรู้ล่วงหน้าถึงการที่ท่านจะเป็นชะฮีดพร้อมกับผู้คนที่ร่วมเดินทางไปด้วยกับท่านและผู้ที่ติดตามท่านมา ว่าเป็นสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เท่านั้น แต่ท่านก็มิได้รู้สึกสิ้นหวังต่อความสำเร็จที่จะไม่มีวันเกิดขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ท่านยังสามารถคาดการณ์ถึงบรรยากาศที่จะเกิดขึ้นในขณะนั้น แม้แต่ภายหลังจากการเป็นชะฮีดของท่านแล้ว การที่จะได้มาซึ่งชัยชนะและอำนาจการปกครองของบุคคลจากบนีฮาชิมรวมทั้งสมาชิกในครอบครัวของท่าน หรือการโค่นล้มลูกหลานของอะมาวีย์ลงจากบัลลังก์และการเป็นผู้ปกครอง รวมทั้งการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสภาพทางสังคมก็มิอาจเกิดขึ้นได้โดยง่ายดายและรวดเร็ว

    แต่ท่านมองการณ์ไกลกว่านั้นว่า ชัยชนะขั้นสูงสุดและชัยชนะอันนิรันดร์ตราบจนถึงวันกิยามะฮ์นั้น จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการเป็นชะฮีดของท่าน และบรรดาผู้ร่วมขบวนการของท่าน อีกทั้งด้วยกับการเป็นเชลยของบุคคลในครอบครัวและลูกหลานของท่านเอง

สาส์นของอิมามฮูเซน (อ.) ถึงชาวบัศเราะฮ์

    ตามรายงานของฏ็อบรีย์กล่าวว่า หลังจากที่ท่านอิมามฮูเซน (อ.) เขียนจดหมายฉบับหนึ่งไปยังผู้นำเผ่าต่างๆ ในเมืองบัศเราะฮ์ เช่น มาลิก บินมัซมะฮ์ บิกรีย์, มัสอูด บินอัมร์ และมุนซิร บินญารูด เป็นต้น เนื้อความของจดหมายฉบับดังกล่าวมีดังนี้

    “แท้จริงอัลลอฮ์ (ซบ.) ทรงเลือกมุฮัมมัดจากบรรดาสิ่งถูกสร้างทั้งหลายของพระองค์ ทรงประทานเกียรติแก่ท่านด้วยตำแหน่งการเป็นศาสนทูตของพระองค์ และทรงคัดเลือกท่านให้ทำหน้าที่ถือสาส์นของพระองค์ แน่นอนท่านได้ทำการตักเตือนปวงบ่าวของพระองค์ ท่านได้ประกาศถึงสิ่งที่พระองค์ทรงประทานมาพร้อมกับตัวท่าน แท้จริงเราคือบุคคลในครอบครัวของท่าน เป็นมิตรสนิทของท่าน เป็นทายาทผู้สืบมรดกจากท่าน และเราเป็นผู้ที่มีความเหมาะสมที่สุดต่อตำแหน่งของท่านในหมู่มนุษยชาติ แต่มีคนกลุ่มหนึ่งพยายามแย่งชิงสิทธิอันชอบธรรมนี้ไปจากเรา แต่เราก็ต้องยินยอมทั้งๆ ที่เราตระหนักดีถึงความเหนือกว่าและเหมาะสมกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับคนเหล่านั้น ทั้งนี้เป็นเพราะเรารังเกียจความแตกแยก และวิกฤติการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในหมู่มุสลิม และเราถือว่าความสงบสุขของประชาชนสำคัญกว่าการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิอันชอบธรรมของเรา

    บัดนี้ฉันได้แต่งตั้งผู้ถือสาส์นจากฉันมายังพวกท่าน และเชิญชวนพวกท่านมาสู่คัมภีร์ของอัลลอฮ์ (ซบ.) และแบบฉบับของศาสนทูตของพระองค์ เพราะแท้จริงแบบฉบับของท่านนั้นกำลังจะถูกทำลายให้สูญสิ้นไป ในขณะที่อุตริกรรม (บิดอะฮ์) และสิ่งแปลกปลอมทั้งหลายกำลังมีชีวิตขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้นหากท่านทั้งหลายได้รับฟังคำเรียกร้องของฉันแล้ว ฉันก็ขอนำพวกท่านเข้าสู่ทางนำและความไพบูลย์ ขอความสันติ ความเมตตา และความเป็นสิริมงคลจากอัลลอฮ์ (ซบ.) จงมีแด่พวกท่านทั้งหลาย” (4)

    ท่านอิมามฮูเซน (อ.) ได้ส่งจดหมายฉบับนี้ไปยังเมืองบัศเราะฮ์ โดยให้ผู้ใกล้ชิดคนหนึ่งของท่านชื่อ “สุลัยมาน” เป็นตัวแทนของท่าน หลังจากที่ท่านสุลัยมานผู้นี้ได้ปฏิบัติหน้าที่ในเมืองบัศเราะฮ์แล้ว ท่านก็ถูกจับกุม และอิบนิซิยาดได้มีคำสั่งให้แขวนคอท่านในคืนก่อนที่ท่านจะเดินทางสู่เมืองกูฟะฮ์

ปัญหาที่สำคัญ

   ในจดหมายฉบับดังกล่าวนั้นมีเนื้อความเพื่อเชิญชวนประชาชนชาวบัศเราะฮ์ให้ร่วมมือกับท่าน เพื่อต่อสู้กับวิกฤติการต่างๆ ที่ขัดแย้งต่ออิสลามและอัลกุรอาน พร้อมกับชี้แจงให้เห็นถึงฐานะของอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) รวมทั้งการเบี่ยงเบนเงื่อนไขของคิลาฟะฮ์ (การสืบต่ออำนาจการปกครอง) และการหันเหออกจากแนวทางแห่งอิสลาม

    ท่านอิมามฮูเซน (อ.) ยังได้แสดงข้อเปรียบเทียบและชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่มีความสำคัญก่อน และปัญหาที่จะตามมาในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้ ท่านได้ชี้แจงให้เข้าใจถึงปรัชญาของการวางตัวนิ่งเฉยของอะฮ์ลุลบัยต์ในช่วงเวลาหนึ่ง และสาเหตุที่ทำให้ท่านต้องลุกขึ้นต่อสู้ในช่วงเวลานั้นว่า

    “การที่ท่านนิ่งเฉยแทนที่จะลุกขึ้นต่อสู่ในช่วงเวลานั้นก็ด้วยเหตุผลที่ว่า เมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์ขณะนั้นแล้ว ไม่เพียงแต่ว่าการยืนหยัดต่อสู้ของท่านจะไม่ยังประโยชน์อันใดแล้ว ตรงกันข้ามจะยิ่งเป็นการเปิดโอกาสให้เหล่าศัตรู (มุนาฟิกีน) และผู้ฉวยโอกาสทั้งหลาย ใช้การต่อสู้ของท่านเป็นเครื่องมือในการแสวงหาประโยชน์ของตน

    ด้วยเหตุนี้เราจึงจำยอมในสิ่งนั้น ด้วยเหตุผลที่ว่า เราไม่ปรารถนาที่จะเห็นความแตกแยกและความเป็นศัตรูในประชาชาติอิสลาม และเพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นต่อสังคมมุสลิม เราจึงยับยั้งการต่อสู้เพื่อนำสิทธิอันชอบธรรมของเรากลับคืนมา แต่ในขณะเดียวกัน เราก็มิได้ละความพยายามที่จะนำทางประชาชาติมุสลิมสู่ความเจริญและความก้าวหน้า ด้วยการสั่งสอนและชี้นำพวกเขา แต่ขณะนี้ถึงช่วงเวลาใหม่ที่อิสลามมิเพียงแต่จะถูกบิดเบือนไปเท่านั้น แต่อิสลามกำลังตกอยู่ในอันตรายและความเสียหายที่ไม่อาจจะเยียวยาได้อีกแล้ว”

    แท้จริงแบบฉบับของท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) ได้ถูกทำลายลงจนหมดสิ้น การบิดเบือน (บิดอะฮ์) และความเห็นแก่ตัวถูกชุบชีวิตขึ้นมาแทนที่ และในวันนี้เงื่อนไขสำหรับการลุกขึ้นต่อสู้กับความชั่วร้ายทั้งมวลได้ปรากฏขึ้นมาอย่างสมบูรณ์แล้ว นั่นหมายความว่า ถึงแม้การยืนหยัดต่อสู้ครั้งนี้เลือดบริสุทธิ์ของคนกลุ่มหนึ่งในประชาชาติอิสลามจะต้องถูกสังเวยไปก็ตาม แต่สำหรับเหล่าศัตรูแล้ว ไม่เพียงแต่จะไม่สามารถใช้เรื่องนี้ให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองได้แล้ว และผลในบั้นปลายยังจะเป็นประโยชน์และเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่สำหรับอิสลามอีกด้วย

สาส์นของท่านอิมามฮูเซน (อ.) ที่มีต่อ “ชาวกูฟะฮ์”

     (5) เมื่อประชาชนชาวกูฟะฮ์ทราบข่าวเกี่ยวกับการคัดค้านของท่านอิมามฮูเซน (อ.) ต่อการให้สัตยาบันกับยาซีด และการเตรียมพร้อมของท่านในการลุกขึ้นต่อสู้กับความชั่วร้าย และรู้ว่าท่านได้เข้าสู่นครมักกะฮ์แล้ว บรรดาผู้ถือสาส์นพร้อมกับจดหมายจำนวนมากจากพวกเขาได้ถูกส่งไปถึงท่านอิมาม ซึ่งใจความของจดหมายเหล่านั้นมีดังต่อไปนี้

    “หลังจากที่มุอาวียะฮ์ได้จบชีวิตลง ประชาชาติมุสลิมรู้สึกสบายใจที่พ้นจากความชั่วร้ายและความป่าเถื่อนของเขา พวกเราเห็นว่าเราต้องการผู้นำและผู้ปกครองที่จะเป็นผู้ให้ความปลอดภัยและความสงบ หลังจากความปั่นป่วนวุ่นวาย จะเป็นผู้นำทางและชี้นำเรือที่กำลังอับปางของเราขึ้นสู่ฝั่งแห่งความรอดพ้นและปลอดภัย ในตอนนี้พวกเราชาวกูฟะฮ์คัดค้านและต่อต้าน “นัวอ์มาน บินบาชีร” ซึ่งเป็นผู้ปกครองของยาซีดในเมืองนี้ และพวกเราได้ตัดความสัมพันธ์และความร่วมมือทุกรูปแบบกับเขา แม้กระทั้งการนำนมาซของเขาพวกเราก็มิได้เข้าร่วมด้วย พวกเรากำลังรอคอยการมาของท่าน สิ่งใดก็ตามที่เราสามารถทำให้เจตนารมณ์ของท่านบรรลุผลได้เราก็จะปฏิบัติโดยไม่รีรอ แม้จะต้องเสียสละทรัพย์สินและการพลีชีวิตของพวกเราในหนทางของท่าน”

    ในการตอบจดหมายเหล่านั้น (ตามรายงานของนักรายงานฮะดีษบางท่านนั้นมีจำนวนถึง 12,000ฉบับ) ท่านอิมามฮูเซน (อ.) ได้เขียนตอบไปว่า

    “ด้วยพระนามแห่งอัลลอฮ์ (ซบ.) ผู้ทรงกรุณา ผู้ทรงปรานียิ่ง จากฮูเซน บินอะลี ถึงหัวหน้าและผู้นำของศรัทธาชนทั้งหลาย เนื้อความมีว่า แท้จริงฮานีย์และสะอีด ได้มาพบฉันพร้อมด้วยจดหมายจำนวนมากจากพวกท่าน เขาทั้งสองเป็นคนกลุ่มสุดท้ายที่นำจดหมายของพวกท่านมายังฉัน แน่นอนยิ่งฉันเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างที่พวกท่านได้แจ้งมา ประเด็นที่สำคัญมีอยู่ว่า พวกเรานั้นไม่มีอิมามและผู้นำ ด้วยเหตุนี้ขอให้ท่านได้โปรดตอบรับ (การเป็นผู้นำ) หวังว่าอัลลอฮ์ (ซบ.) จะทรงรวมเราเข้าด้วยกันด้วยสื่อของท่าน ที่ตั้งอยู่บนทางนำและสัจธรรม

    บัดนี้ ฉันได้ส่งน้องชายของฉัน ผู้เป็นบุตรของลุงของฉัน (คือมุสลิม บินอะกีล) อีกทั้งเป็นบุคคลที่ได้รับความไว้วางใจจากครอบครัวของฉันมายังพวกท่าน และฉันได้กำชับให้เขารายงานสภาพความเป็นอยู่ ของกิจการต่างๆ รวมทั้งทัศนคติและความคิดเห็นของพวกท่านมายังฉัน ซึ่งถ้าเขาเขียนมาว่าความต้องการส่วนใหญ่ของพวกท่านนั้น เป็นสิ่งเดียวกับที่ปรากฏในจดหมายทั้งหลายที่พวกท่านเขียนมาถึงฉัน อินชาอัลลอฮ์ (หากเป็นพระประสงค์ของอัลลอฮ์) ฉันก็จะรีบเร่งมุ่งหน้าไปสู่พวกท่านเช่นกัน ขอสาบานด้วยอายุขัยของฉันว่า ไม่มีอิมามและผู้นำคนใดที่อยู่บนสัจธรรม นอกจากผู้ที่ปฏิบัติตามคัมภีร์แห่งพระผู้เป็นเจ้า และเป็นผู้ซึ่งยึดถือความเที่ยงธรรม ผู้ปฏิบัติตามสัจธรรม และเป็นผู้ที่อุทิศชีวิตของตนเองในหนทางแห่งพระผู้เป็นเจ้า วัสลาม”

    จากรายงานของฏ็อบรีย์ และดัยนูรีย์ กล่าวว่า ท่านอิมามฮูเซน (อ.) ได้ส่งจดหมายโดยให้ฮานีย์และสะอีด ชาวกูฟะฮ์สองคนเป็นผู้ถือไปยังเมืองกูฟะฮ์อีก (6) แต่จากรายงานของคอวาริซมีย์นั้น ท่านอิมามได้มอบจดหมายให้แก่มุสลิม บินอะกีล นำไปยังเมืองกูฟะฮ์ และท่านได้กล่าวกับมุสลิม บินอะกีลว่า

     “ฉันจะส่งเจ้าไปยังประชาชนชาวกูฟะฮ์ และขออัลลอฮ์ (ซบ.) ทรงประทานความสำเร็จอันเป็นสิ่งที่พระองค์ทรงยินดีและพึงพอพระทัย จงมุ่งเดินทางไปเถิด และอัลลอฮ์ (ซบ.) จะทรงเป็นที่พึ่งและเป็นผู้คุ้มครองเจ้า ฉันเองมีความหวังอย่างยิ่งว่า ทั้งเจ้าและฉันนั้นจะได้รับตำแหน่งในฐานะของบรรดาชะฮีด” (7)

บทสรุป      

     ในจดหมายฉบับนี้ ท่านอิมามฮูเซน (อ.) ได้ตอบรับการเรียกร้องของประชาชนชาวกูฟะฮ์ และประกาศให้รู้ถึงการส่งตัวแทนไปยังเมืองกูฟะฮ์ ท่านได้แนะนำให้รู้ว่าเขาอยู่ในฐานะน้องชายของท่าน และเป็นผู้ที่ท่านมอบความไว้วางใจ ท่านยังได้ชี้ให้เห็นรายละเอียดและเงื่อนไขต่างๆ ของการเป็นอิมามหรือผู้นำที่แท้จริงที่ประชาชาติมุสลิมจะต้องให้สัตยาบันและปฏิบัติตาม ว่าเขาจะต้องมีนโยบายในการทำงานที่สอดคล้องกับบทบัญญัติแห่งพระผู้เป็นเจ้า เจตนารมณ์และเป้าหมายของเขาจะต้องเป็นไปเพื่อการเสริมสร้างสัจธรรมและความยุติธรรมในสังคม ชีวิตของเขาจะต้องทุ่มเทและอุทิศไปในหนทางแห่งพระผู้เป็นเจ้า


เชิงอรรถ :

(1) กามิลุซ ซิยารอต หน้า 75

(2) อัลลุฮูฟ หน้า 25 และในอัลลุฮูฟนี้ ในเนื้อความของจดหมายที่ว่า “เขาจะไม่ได้สัมผัสกับฉัน” ถูกบันทึกไว้แทนคำว่า “ลับบัยละฆ่อฟัตฮะ”

(3) หนังสือ “ฮูเซน บินอะลี (อ.)” (ฉบับแปล) จากหนังสือประวัติศาสตร์ของอิบนิอะซากิร และประวัติศาสตร์อิสลามของซะฮะบีย์ เล่ม 2, หน้า 343

(4) ฏ็อบรีย์ เล่ม 7, หน้า 240

(5) ฏ็อบรีย์ เล่ม 7, หน้า 235 ;อัลกามิล อิบนิอะซีร เล่ม 3, หน้า 267 ; อิรชาร หน้า 204 ; มักตัล คอวาริซมีย์ เล่ม 1, หน้า 195-196

(6) ฏ็อบรีย์ เล่ม 7, หน้า 235 ; อัคบารุต ตอวาล หน้า 238

(7) มักตัล คอวาริซมีย์ เล่ม 1, หน้า 196


ที่มา : หนังสือสุนทรพจน์ ฮูเซน บินอะลี (อ.)

แปลและเรียบเรียงโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

Copyright © 2018 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่

ผู้เยี่ยมชมอยู่ขณะนี้

มี 940 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์

9767238
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
39545
71247
242783
9045061
1618772
2060970
9767238

พ 24 เม.ย. 2024 :: 14:14:12