คุณประโยชน์ด้านการขัดเกลาจิตวิญญาณของการถือศีลอด
Powered by OrdaSoft!
No result.
คุณประโยชน์ด้านการขัดเกลาจิตวิญญาณของการถือศีลอด

ในความเป็นจริงแล้วการถือศีลอดนั้นคือวิธีการหนึ่งของการฝึกฝนและการขัดเกลาตน (ตัซกิยะตุนนัฟซ์) และเป็นแนวทางที่เหมาะสมสำหรับการต่อสู้กับอารมณ์ใฝ่ต่ำ การถือศีลอดเป็นปัจจัยที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดสำหรับการบรรลุสู่ความสมบูรณ์ (กะมาล) และความใกล้ชิดต่อพระผู้เป็นเจ้าโดยการกำหนดให้การถือศีลอดเป็นวาญิบ (หน้าที่บังคับ)

พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงกำหนดซะกาต (1) ไว้สำหรับทุกสิ่ง และซะกาตของร่างกายก็คือการถือศีลอด ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) กล่าวว่า

 لِكُلِّ شَيْءٍ زَكَاةٌ وَ زَكَاةُ الْأَبْدَانِ الصِّيَام

“สำหรับทุกสิ่งนั้นมีซะกาต และซะกาตของร่างกายคือการถือศีลอด” (2)

   ในความเป็นจริงแล้วการถือศีลอดนั้นคือวิธีการหนึ่งของการฝึกฝนและการขัดเกลาตน (ตัซกิยะตุนนัฟซ์) และเป็นแนวทางที่เหมาะสมสำหรับการต่อสู้กับอารมณ์ใฝ่ต่ำ การถือศีลอดเป็นปัจจัยที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดสำหรับการบรรลุสู่ความสมบูรณ์ (กะมาล) และความใกล้ชิดต่อพระผู้เป็นเจ้า ในความเป็นจริงแล้ว โดยการกำหนดให้การถือศีลอดเป็นวาญิบ (หน้าที่บังคับ) นั้น พระผู้เป็นเจ้าทรงทำให้มนุษย์มีความสามารถที่จะเข้าใกล้สถานะของการเป็นค่อลีฟะฮ์ (ผู้สืบทอด) ของพระองค์ในหน้าแผ่นดิน และทำให้มนุษย์ดำรงตนอยู่ในเส้นทางของตักวา (ความยำเกรง) พระผู้เป็นเจ้าทรงตรัสไว้ในคัมภีร์อัลกุรอานว่า

 يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُواْ كُتِبَ عَلَيْكُمُ الصِّيَامُ كَمَا كُتِبَ عَلَى الَّذِينَ مِن قَبْلِكُمْ لَعَلَّكُمْ تَتَّقُونَ

“โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย! การถือศีลอดได้ถูกกำหนดแก่พวกเจ้า เช่นเดียวกับที่ได้ถูกกำหนดแก่บรรดาผู้ที่มาก่อนหน้าพวกเจ้า หวังว่าพวกเจ้าจะได้ยำเกรง” (อัลกุรอานบทอัลบะกอเราะฮ์ โองการที่ 183)

การถือศีลอดมีคุณประโยชน์อย่างมากมาย ซึ่งที่จะขอชี้ถึงบางส่วนของผลต่างๆ ของการถือศีลอดที่มีต่อตัวผู้ทำการถือศีลอดดังต่อไปนี้

1.ความอดทนและการยืนหยัด : หนึ่งในผลของการถือศีลอดคือความอดทน และความอดทนนั้นเป็นหนึ่งความดีงามทางด้านจริยธรรมของมนุษย์ ผู้ที่ปรารถนาจะเป็นผู้จาริกทางจิตวิญญาณไปสู่พระผู้เป็นเจ้า (อัซซาลิก อิลัลลอฮ์) นั้น จำเป็นจะต้องเป็นผู้มีความอดทนอย่างมาก ในคัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวว่า

 يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُواْ اسْتَعِينُواْ بِالصَّبْرِ وَالصَّلاَةِ إِنَّ اللّهَ مَعَ الصَّابِرِينَ

“โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย! จงแสวงหาการช่วยเหลือด้วยความอดทนและการนมาซเถิด แท้จริงอัลลอฮ์ทรงอยู่กับบรรดาผู้อดทน" (อัลกุรอานบทอัลบะกาเราะฮ์ โองการที่153)

     หนึ่งในความหมายของความอดทนคือการถือศีลอด ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ได้แนะนำเดือนอันจำเริญนี้ว่า เป็นเดือนแห่งความอดทน และท่านได้กล่าวในเรื่องนี้ว่า

 أَيُّهَا النَّاسُ قَدْ أَظَلَّكُمْ شَهْرٌ عَظِيمٌ مُبَارَكٌ، شَهْرٌ فِيهِ لَيْلَةٌ خَيْرٌ مِنْ أَلْفِ شَهْرٍ، شَهْرٌ جَعَلَ الله صِيَامَهُ فَرِيضَةً،...... وَهُوَ شَهْرُ الصَّبْرِ، وَالصَّبْرُ ثَوَابُهُ الجَنَّةُ

"โอ้ประชาชนเอ๋ย! เดือนที่ยิ่งใหญ่และมีความจำเริญได้มาเยือนพวกท่านแล้ว เดือนซึ่งในมันนั้นมีค่ำคืนหนึ่งที่ประเสริฐกว่าหนึ่งพันเดือน เดือนซึ่งอัลลอฮ์ได้ทรงกำหนดให้การถือศีลอดเป็นหน้าที่บังคับ... และมันคือเดือนแห่งความอดทน และความอดทนนั้น ผลรางวัลของมันคือสวรรค์" (3)

    ในความเป็นจริงแล้ว การถือศีลอดจะช่วยขัดเกลาจิตวิญญาณของผู้ที่ถือศีลอด และด้วยการจำกัดชั่วคราวของคนเราที่มีต่อความหิวและความกระหายนั้นจะช่วยฝึกฝนความอดทน การควบคุมสัญชาตญาณต่างๆ และจะช่วยทำให้หัวใจของคนเราเกิดความผ่องผิวและใสสะอาด (4)

3.ความสุขและความสงบมั่น : การถือศีลอดจะช่วยฟื้นฟูและทำให้การรำลึกถึงพระผู้เป็นเจ้าดำรงอยู่ในตัวของมนุษย์ ซึ่งการรำลึกถึงพระเจ้าจะช่วยทำให้หัวใจทั้งหลายเกิดความสงบมั่น คัมภีร์อัลกุรอานกล่าวว่า

 أَلاَ بِذِكْرِ اللّهِ تَطْمَئِنُّ الْقُلُوبُ

“พึงรู้เถิดว่า ด้วยการรำลึกถึงอัลลอฮ์นั้นที่หัวใจทั้งหลายจะสงบมั่น" (อัลกุรอานบทอัรเราะดุ์ โองการที่28)

      ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้กล่าวในเรื่องนี้ว่า

 لِلصَّائِمِ فَرْحَتَانِ فَرْحَةٌ عِنْدَ إِفْطَارِهِ وَ فَرْحَةٌ عِنْدَ لِقَاءِ رَبِّهِ

"สำหรับผู้ถือศีลอดนั้นมีสองช่วงเวลาแห่งความสุข (ความปิติยินดี) ความสุขหนึ่งในช่วงเวลาของการละศีลอด และอีกความสุขหนึ่งเมื่อได้พบกับพระผู้เป็นเจ้า” (5)

      ผู้ที่ถือศีลอดนั้นแม้แต่การนอนของเขาก็เป็นอิบาดะฮ์ และการอิบาดะฮ์นี้เองที่ให้ความสงบสุขแก่มนุษย์

3.การรำลึกถึงอาคิเราะฮ์ (ปรโลก) : ผู้ถือศีลอดเมื่อรู้สึกหิวและกระหาย ก็จะรำลึกถึงชีวิตในอาลัมบัรซัค (ในหลุมฝังศพ) และวันกิยามะฮ์ (ปรโลก) และจะเตรียมพร้อมตนสำหรับบั้นปลายชีวิตของตน ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ได้กล่าวว่า

 وَ اذْكُرُوا بِجُوعِكُم وَ عَطَشِكُم فیهِ جوعَ یَوْم القیامه وَ عَطَشَهُ

“และด้วยความหิวและความกระหายของพวกท่านในเดือนนี้ จงรำลึกถึงความหิวและความกระหายในวันกิยามะฮ์” (6)

     และท่านยังได้กล่าวอีกว่า

 إِنَّ فِي الْجَنَّةِ بَابًا يُقَالُ لَهُ الرَّيَّانُ يَدْخُلُ مِنْهُ الصَّائِمُونَ يَوْمَ الْقِيَامَةِ لَا يَدْخُلُ مِنْهُ أَحَدٌ غَيْرُهُمْ يُقَالُ أَيْنَ الصَّائِمُونَ فَيَقُومُونَ لَا يَدْخُلُ مِنْهُ أَحَدٌ غَيْرُهُمْ فَإِذَا دَخَلُوا أُغْلِقَ فَلَمْ يَدْخُلْ مِنْهُ أَحَدٌ

“แท้จริงในสวรรค์นั้นมีประตูหนึ่งที่ถูกเรียกว่า “อัรร็อยยาน” (ผู้อิ่มเอม) บรรดาผู้ถือศีลอดจะผ่านเข้าจากมันในวันกิยามะฮ์ คนอื่นจากพวกเขาจะไม่ได้ผ่านเข้าทางมัน จะมีผู้กล่าวว่า บรรดาผู้ถือศีลอดอยู่ที่ไหน ดังนั้นพวกเขาจะยืนขึ้น จะไม่มีผู้ใดเข้าไปทางประตูนั้นนอกจากพวกเขา และเมื่อพวกเขาเข้าไปแล้วมันก็จะถูกปิด และจะไม่มีผู้ใดผ่านเข้าทางมันได้อีก” (7)

4. การควบคุมอารมณ์ใฝ่ต่ำ : อารมณ์ใฝ่ต่ำและกิเลสคือสาเหตุสำคัญที่จะทำให้มนุษย์ออกห่างจากความเมตตาอันยิ่งใหญ่ของพระผู้เป็นเจ้า การถือศีลอดคือหลักคำสอนในทางปฏิบัติประการหนึ่งของศาสนาที่จะควบคุมอารมณ์ใฝ่ต่ำและกิเลสตัณหาของมนุษย์ เนื่องจากการถือศีลอดนั้นเป็นวิธีการหนึ่งของการฝึกโดยธรรมชาติ ซึ่งโดยสื่อของมันจะช่วยให้มนุษย์สามารถควบคุมอารมณ์ใคร่ต่างๆ ของตนได้ ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) กล่าวว่า

 يَا مَعْشَرَ الشَّبَابِ مَنْ اسْتَطَاعَ منكُم الْبَاءَةَ فَلْيَتَزَوَّجْ ، فَإِنَّهُ أَغَضُّ لِلْبَصَرِ ، وَأَحْصَنُ لِلْفَرْجِ ، وَمَنْ لَمْ يَسْتَطِعْ فَعَلَيْهِ بِالصَّوْمِ

“โอ้คนหนุ่มสาวทั้งหลาย! ผู้ใดในหมู่พวกเจ้าที่สามารถแต่งงานได้ก็จงแต่งงานเถิด เพราะแท้จริงมันมันจะช่วยลดละสายตาและปกป้องอวัยวะพึงสงวนได้ดีกว่า และผู้ใดที่ไม่มีความสามารถ ดังนั้นเขาก็จงถือศีลอดเถิด” (8)

5.การเสริมสร้างความบริสุทธิ์ใจ : ความบริสุทธิ์ใจ (อิคลาศ) ในการกระทำ (อะมั้ล) คือเงื่อนไขในการถูกยอมรับของอิบาดะฮ์ของปวงบ่าว และการถือศีลอดนี้จะเสริมสร้างความบริสุทธิ์ใจให้แก่มนุษย์ ดังที่ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า

 فَرَضَ اَللَّهُ اَلْإِيمَانَ تَطْهِيراً مِنَ اَلشِّرْكِ وَ اَلصَّلاَةَ تَنْزِيهاً عَنِ اَلْكِبْرِ وَ اَلزَّكَاةَ تَسْبِيباً لِلرِّزْقِ وَ اَلصِّيَامَ اِبْتِلاَءً لِإِخْلاَصِ اَلْخَلْقِ

"อัลลอฮ์ทรงกำหนดให้ความศรัทธา (อีหม่าน) เพื่อการชำระจากการตั้งภาคี และการนมาซเพื่อขจัดการหลงตน และซะกาตเพื่อเป็นสื่อสำหรับริซกี (ปัจจัยดำรงชีพ) และการถือศีลอดเพื่อการทดสอบ (และการฝึกฝน) ความบริสุทธิ์ใจของมนุษย์” (9)

     ในความเป็นจริงแล้วการถือศีลอดนั้นคือการทดสอบปวงบ่าวในสัมพันธ์ที่มีต่อพระผู้เป็นเจ้า บรรดาผู้ที่ผ่านการทดสอบนี้ไปได้ด้วยความภาคภูมิ พวกเขาก็จะเข้าอยู่ในหมู่ผู้ถือศีลอดที่แท้จริง ฉะนั้นการถือศีลอดไม่ใช่แค่เพียงการงดเว้นอาหารและเครื่องดื่มและการมีความอดทนต่อความหิวและกระหายเพียงเท่านั้น


เชิงอรรถ :

(1) "ซะกาต" ในทางภาษานั้นมีสองความหมายคือ “ความเจริญ” และ “การเพิ่มพูน” และอีกความหมายหนึ่งคือ “ความสะอาดบริสุทธิ์” และคำว่า "ซะกาต" ในทางศาสนบัญญัติ (อัลกรอานและฮะดีษ) นั้น หมายถึง ส่วนหนึ่งของทรัพย์สินที่ผู้ศรัทธาจะมอบมันให้กับคนยากจน ด้วยเหตุผลที่ว่าการจ่ายมันออกไปนั้นเขาหวังว่าจะเกิดการงอกเงยและความเพิ่มพูนในทรัพย์สินของตนพร้อมกับความดีงามและความจำเริญ และจะเป็นสื่อในการชำระขัดเกลาและการสร้างความสะอาดบริสุทธิ์ให้แก่จิตวิญญาณของผู้ที่จ่ายมัน

(2) อัลกาฟี, เล่มที่ 4, หน้าที่ 62, ฮะดีษที่ 2

(3) อัลกาฟี, เล่มที่ 4, หน้าที่ 66

(4) ตัฟซีร นะมูเนะฮ์, เล่มที่ 1, หน้าที่ 629

(5) มันลายะห์ฎุรุฮุลฟะกีฮ์, เล่มที่ 2, หน้าที่ 76

(6) วะซาอิลุชชีอะฮ์, เล่มที่ 10, หน้าที่ 313 ; ซอเฮี๊ยะห์ บุคคอรี, ฮะดีษที่ 1763 ; ซอเฮี๊ยะห์ มุสลิม, ฮะดีษที่ 1947

(7) มะอานิลอัคบาร, หน้าที่ 409

(8) อัลกาฟี, เล่มที่ 4, หน้าที่ 180 ; มุสตัดร็อก อัลวะซาอิล, เล่มที่ 14, หน้าที่ 153

(9)นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, หน้าที่ 512, สำนักพิมพ์ฮิจญ์ร็อต


บทความ : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

Copyright © 2017 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้อิสลามสำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่

ผู้เยี่ยมชมอยู่ขณะนี้

มี 673 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์

9883777
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
22905
66240
359322
9045061
1735311
2060970
9883777

ศ 26 เม.ย. 2024 :: 09:14:25