ปรัชญาของการมีชีวิตจากคำสอนของท่านอิมามญะอ์ฟัร อัศซอดิก (อ.)
Powered by OrdaSoft!
No result.
ปรัชญาของการมีชีวิตจากคำสอนของท่านอิมามญะอ์ฟัร  ซอดิก (อ.)

“อิมามซอดิก (อ.) กลว่าว่า ไม่มีสาเหตุใดๆ ที่จะมีอิทธิพลหรือมีอำนาจบีบบังคับให้พระองค์สร้างโลกนี้ขึ้นมา และเมื่อเหตุผลนั้นมิใช่เป็นสิ่งจำเป็นแล้ว ดังนั้นเมื่อมุวะหิด (ผู้ศรัทธาในพระเจ้า) คนหนึ่งคนใดจะกล่าวว่า พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างโลกนี้ขึ้นมาจากพระเมตตาธิคุณของพระองค์ จึงไม่ถือว่าเป็นสิ่งที่ขัดแย้งต่อหลักเอกภาพ (เตาฮีด) แต่อย่างใด”

คำสนทนาระหว่างท่านอิมามญะอ์ฟัร ซอดิก (อ.) กับลูกศิษย์ของท่าน

    ญาบิร : ไม่เป็นการสะดวกกว่าและดีกว่าดอกหรือ ที่พระผู้เป็นเจ้าจะทรงให้มนุษย์ได้ถือกำเนิดเกิดมาในโลกภายหลังจากความตาย ซึ่งเป็นโลกที่ดีกว่าและจีรังยั่งยืนกว่านับตั้งแต่เริ่มแรก โดยไม่ต้องให้เราต้องมามีชีวิตอยู่ในโลกปัจจุบัน และไม่ต้องให้เราต้องประสบกับความตาย?

    อิมามซอดิก (อ.) : ...มาตรว่าผู้ที่มิได้มีความเชื่อศรัทธาในศาสนาแห่งพระผู้เป็นเจ้า เป็นผู้ตั้งคำถามกับฉัน เพื่อต้องการที่จะทราบถึงวิทยปัญญา (หิกมะฮฺ) ของพระองค์ ฉันจะตอบเขาดังนี้ว่า “เจตนารมณ์ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงประสงค์ให้มนุษย์ผ่านขั้นตอนการดำเนินชีวิตที่หลากหลาย ก็เพื่อให้พวกเขาได้ผ่านการขัดเกลาตนเอง และวิวัฒนาการในแต่ละขั้นตอนแห่งการดำเนินชีวิตให้สะอาดบริสุทธิ์ยิ่ง ๆ ขึ้นไป จนกว่าพวกเขาจะมีคุณสมบัติที่เหมาะสมคู่ควรที่จะเข้าไปสู่โลกที่สมบูรณ์กว่าและจีรังยั่งยืนกว่านั่นเอง...”

วิทยปัญญาของการสร้างมนุษย์

     ญาบิร : คำถามต่อมาก็คือ มีความจำเป็นอันใดหรือที่พระผู้เป็นเจ้าจะต้องสร้างมนุษย์ เป็นไปได้ไหมที่พระองค์จะทรงละเว้นไม่ต้องสร้างมนุษย์ขึ้นมา?

     อิมามซอดิก (อ.) : มุสลิมทุกคนย่อมทราบดีถึงเจตนารมณ์ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างมนุษย์ขึ้นมาว่า เพื่อให้พวกเขาได้ทำความรู้จักพระองค์ กล่าวคือ ให้มนุษย์ได้ทำความรู้จักกับที่มาและความเป็นไปของตัวเอง และมุสลิมทุกคนมีความเชื่อว่าของขวัญอันล้ำค่าที่สุดที่พระผู้เป็นเจ้าทรงประทานแก่มนุษย์ ก็คือการสรรสร้างเขามานั่นเอง...

วิทยปัญญาสูงสุดของการสรรสร้าง

     ญาบิร : ปรัชญาขั้นสูงสุดในการสรรสร้างคืออะไร?

     อิมามซอดิก (อ.) : พระผู้เป็นเจ้าทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อสรรพสิ่งทั้งหลาย แม้กระทั่งวัตถุธาตุ

     ญาบิร : พระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ทรงมีต่อสรรพสิ่งทั้งหลายนั้น เพื่อเป้าหมายหรือเจตนารมณ์อันใด?

     อิมามซอดิก (อ.) : เจ้าไม่สามารถที่จะทำความเข้าใจเจตนารมณ์ในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ได้แม้สักกรณีเดียวหรือ?

     ญาบิร : ผู้คนส่วนใหญ่มักจะทำความดีโดยมีเป้าหมายแฝงเร้น บางส่วนทำความดีเพื่อตัวของพวกเขาเอง

     อิมามซอดิก (อ.) : แต่สำหรับพระผู้เป็นเจ้าแล้ว พระองค์มิได้ทรงประทานความเมตตาและความโปรดปรานเพื่อการโอ้อวดหรือเพื่อหวังรางวัลตอบแทนแต่อย่างใด และพระองค์ทรงสรรสร้างสรรพสิ่งทั้งมวลเพียงเพื่อให้สรรพสิ่งเหล่านั้นไปสู่ความดีงามนั่นเอง

     แต่ถ้าถามว่านอกเหนือจากนี้แล้ว พระองค์ทรงมีเหตุผลอื่นในการสรรสร้างสรรพสิ่งทั้งหลายอีกหรือไม่  ฉันจะกล่าวกับเจ้าว่า จงอย่าได้ถามเช่นนี้ เพราะไม่เป็นการสมควรสำหรับผู้ที่ยอมจำนนในเอกภาพของพระผู้เป็นเจ้า (มุวะหิด) ที่จะตั้งคำถามทำนองนี้

    ญาบิร : สาเหตุที่ฉันตั้งคำถามนี้ขึ้นมา ก็เพื่อทำความเข้าใจและนำความเข้าใจไปตอบข้อสงสัยแก่ผู้ที่ไม่เชื่อในเอกภาพของพระผู้เป็นเจ้า ยามที่ฉันต้องเผชิญกับคำถามเช่นนี้

    อิมามซอดิก (อ.) : นอกจากเกียรติคุณและความสูงส่งของพระผู้เป็นเจ้าแล้ว โดยวิทยปัญญาแล้วถือว่าไม่มีเหตุผลและความจำเป็นที่พระองค์จะทรงสร้างโลกนี้ขึ้นมาแต่อย่างใด เพราะมาตรว่ามีเหตุผลและความจำเป็นที่นอกเหนือจากเจตนารมณ์ของพระองค์แล้วไซร้ ก็เท่ากับเหตุผลเหล่านั้นเข้าไปมีอิทธิพลและอำนาจเหนือพระองค์ และบีบบังคับให้พระองค์ต้องสร้างโลกนี้ขึ้นมา (ซึ่งในทางสติปัญญาแล้วถือว่า) พระเจ้าที่ตกอยู่ภายใต้อำนาจหรืออิทธิพลอื่นนั้น ไม่อาจจะเป็นพระเจ้าที่แท้จริงได้

    ญาบิร : เป็นไปได้ไหมว่ามีเหตุผลที่ทำให้พระผู้เป็นเจ้าสร้างโลกนี้ โดยที่เหตุผลนั้นมิได้มีอิทธิพลเหนือพระองค์แต่อย่างใด?

    ตัวอย่างเช่น พระองค์ทรงบันดาลโลกนี้ขึ้นมา เพื่อที่จะทอดพระเนตรผลงานที่เต็มไปด้วยพระปรีชาญาณและเดชานุภาพของพระองค์เอง และเพื่อพระองค์จะทรงพึงพอพระทัยในผลงานที่พระองค์ทรงสร้าง

    อิมามซอดิก (อ.) : การมองดูและแสวงหาความพึงพอใจในผลงานที่ตนได้ประกอบขึ้นมานั้น เป็นธรรมชาติและคุณสมบัติเฉพาะของมนุษย์เท่านั้น พฤติกรรมทั้งสองเกิดจากความปรารถนาและความต้องการ เนื่องจากเรามีความต้องการ เราจึงพยายามที่จะทำให้หัวใจของเรามีความสุขความเบิกบาน และเนื่องจากเรามีความต้องการ เราจึงพยายามที่จะแสวงหาความพึงพอใจ เมื่อประสบความสำเร็จในภารกิจหนึ่ง เราจะสำแดงความยินดีและความพึงพอใจออกมา ต่างจากพระผู้เป็นเจ้า เพราะพระองค์ไม่ทรงมีความต้องการใด ๆ ทั้งสิ้น

    นอกจากนี้ ส่วนใหญ่ของความต้องการและความพึงพอใจทั้งทางตรงและทางอ้อม เกิดจากอวัยวะภายในร่างกายของเรา ในขณะที่พระผู้เป็นเจ้าไม่ทรงมีเรือนร่างแต่อย่างใด

    ญาบิร : เหตุผลในการสร้างมิใช่เพราะพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ดอกหรือ  ซึ่งเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับคำตอบของท่านด้วย?

    อิมามซอดิก (อ.) : ถูกต้อง! แต่มิได้เป็นเหตุผลที่จำเป็นหรือสำคัญแต่อย่างใด กล่าวคือ ไม่มีสาเหตุใด ๆ ที่จะมีอิทธิพลหรือมีอำนาจบีบบังคับให้พระองค์สร้างโลกนี้ขึ้นมา และเมื่อเหตุผลนั้นมิใช่เป็นสิ่งจำเป็นแล้ว ดังนั้นเมื่อมุวะหิด (ผู้ศรัทธาในพระเจ้า) คนหนึ่งคนใดจะกล่าวว่า พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างโลกนี้ขึ้นมาจากพระเมตตาธิคุณของพระองค์ จึงไม่ถือว่าเป็นสิ่งที่ขัดแย้งต่อหลักเอกภาพ (เตาหีด) แต่อย่างใด

    ญาบิร : แต่ฉันยังสันนิษฐานว่า สาเหตุดังกล่าวเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอยู่

    อิมามซอดิก (อ.) : ไหนท่านลองอธิบายเพิ่มเติมมาหน่อยซิ

    ญาบิร : พระผู้เป็นเจ้าสามารถเปลี่ยนเจตนารมณ์ของพระองค์ใช่ไหม?

    อิมามซอดิก (อ.) : เป็นสิ่งที่ชัดเจน พระองค์ทรงสามารถ

    ญาบิร : แต่พระองค์มิได้เปลี่ยนเจตนารมณ์ และทรงสร้างโลกมาด้วยกับพระมหากรุณาธิคุณ ซึ่งไม่ถือเป็นสิ่งที่ยืนยันหรือว่าพระองค์ไม่อาจที่จะยับยั้งจากการใช้พระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ได้

     อิมามซอดิก (อ.) : สิ่งที่ท่านกล่าวมานั้นเป็นลักษณะของการแย้งเพื่อหาข้อพิพาท  (ญะดัล – การเล่นคำสำบัดสำนวน) มิใช่เป็นการแย้งเพื่อแสวงหาคำตอบ (บะหฺษ์)

     ถามว่า เมื่อท่านให้เกียรติใครสักคนหนึ่ง ทั้ง ๆ ที่การให้เกียรตินั้นมิได้เป็นภาระหน้าที่ที่จำเป็นของท่าน หมายความว่าท่านถูกบีบบังคับกระนั้นหรือ?

     ญาบิร : ไม่ครับ

     อิมามซอดิก (อ.) : ในทำนองเดียวกัน พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างโลกนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นความเมตตาและความโปรดปรานแก่สรรพสิ่งทั้งหลาย ด้วยกับพระมหากรุณาธิคุณอย่างแท้จริงของพระองค์ โดยมิได้ตกอยู่ภายใต้การบีบบังคับใด ๆ ทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่ฉันเป็นมุวะหิด (ผู้ศรัทธาในพระเจ้า) คนหนึ่ง ฉันไม่อาจที่จะใช้สติปัญญา...


แหล่งอ้างอิง :

(1) ซินเดกีนอเมะฮ์ 14 มะอฺซูม, อายะตุลลอฮ์ ซัยยิด มุฮัมมัดตะกีย์ มุดัรริซ, หน้า 602

(2) อุซุลกาฟี, ฉบับแปลมุฮัมมัด บากิร, เล่มที่ 1, หน้า 211-217

(3) อิฮ์ติยาจญ์ เฏาะบัรซีย์, เล่มที่ 2, หน้า 75


บทความ : เชค ดร.มุฮัมมัดชะรีฟ เกตุสมบูรณ์

Copyright © 2017 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้อิสลามสำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่

ผู้เยี่ยมชมอยู่ขณะนี้

มี 1335 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์

10758856
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
8432
72655
282044
9979155
565036
2045354
10758856

พฤ 09 พ.ค. 2024 :: 01:55:17