สถานะและสิทธิของบิดา มารดา
Powered by OrdaSoft!
No result.

สถานะและสิทธิของบิดา มารดา

    เมื่อพิจารณาถึงสถานะของมารดาและความยิ่งใหญ่ของความทุกข์ทรมานที่นางต้องอดทนเพื่อลูกนั้น เป็นสื่อที่ทำให้จำเป็นต้องทำความรู้จักสถานะของมารดา ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ท่านอิมามซัจญาด (อ.) จึงกล่าวว่า : “สิทธิของมารดาของเจ้าคือการที่เจ้าจะรู้ว่านางได้อุ้มครรภ์เจ้ามาโดยที่ไม่มีบุคคลใดที่จะอุ้มครรภ์ใครเช่นนี้ และนางได้มอบดวงใจทั้งหมดของนางให้แก่เจ้า โดยที่ไม่มีผู้ใดจะมอบให้แก่ใคร และนางได้ปกป้องเจ้าด้วยอวัยวะร่างกายทั้งหมดของนาง และนางไม่เป็นห่วงที่ตัวเองจะหิวเพื่อให้เจ้าได้กิน ไม่ใส่ใจว่าตนเองจะกระหายเพื่อให้เจ้าได้ดื่ม ยอมอัตคัดในเสื้อผ้าเพื่อให้เจ้าได้สวมใส่ ยอมตากแดดเพื่อให้เจ้าได้อยู่ในร่มเงาและอดหลับอดนอนเพื่อเจ้า และนางจะคอยปกป้องเจ้าจากความร้อนและความหนาวเย็น ให้มาเกิดขึ้นกับนางแทน (พึงรู้เถิดว่า) แท้จริงเจ้าไม่สามารถที่จะขอบคุณนางได้ นอกจากการช่วยเหลือของอัลลอฮ์และการประทานความสำเร็จของพระองค์” (1)

ลำดับความสำคัญที่มาก่อนของสิทธิของมารดา

    สิทธิของมารดานั้นกว้างขวางและสำคัญยิ่งกว่า แม้แต่สิทธิของบิดา ด้วยเหตุนี้ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) จึงกล่าวว่า :

إِذَا كُنْتَ فِيْ صَلَاةِ التَّطَوُّعِ ، فَإِنْ دَعَاكَ وَالِدُكَ فَلَا تَقْطَعْهَا ، فَإِنْ دَعَتْكَ وَالِدَتُكَ فَاقْطَعْهَا

“เมื่อใดก็ตามที่ท่านนมาซอาสา (มุสตะฮับ) แล้วบิดาของท่านเรียกหาท่าน ดังนั้นก็จงอย่าออกจากการนมาซ (2) แต่ถ้ามารดาของท่านเรียกหาท่าน ก็จงออกจากการนมาซเถิด” (3)

การเน้นย้ำอย่างมากมายในการทำดีต่อมารดา

    ท่านอิมามบากิร (อ.) กล่าวว่า : ท่านศาสดามูซา (อ.) ได้ทูลขอต่อพระผู้เป็นเจ้าถึงสามครั้งว่า : โอ้พระผู้อภิบาลของข้าฯ! โปรดให้คำแนะนำกับข้าฯ ด้วยเถิด! ในทั้งสามครั้ง พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงตรัสว่า : ข้าขอกำชับสั่งเสียเจ้าให้เชื่อฟังข้า จากนั้นเขาก็ทูลขออีกว่า : โอ้พระผู้อภิบาลของข้าฯ! โปรดให้คำแนะนำกับข้าฯ ด้วยเถิด! พระองค์ทรงตรัสว่า : ข้าขอกำชับสั่งเสียเจ้าในเรื่องของมารดาของเจ้า เขายังคงทูลขออีกว่า : โอ้พระผู้อภิบาลของข้าฯ! โปรดให้คำแนะนำสั่งเสียแก่ข้าฯ ด้วยเถิด! พระองค์ทรงตรัสว่า : ข้าขอกำชับสั่งเสียเจ้าในเรื่องของมารดาของเจ้า เขาทูลขออีกว่า : โอ้พระผู้อภิบาลของข้าฯ! โปรดให้คำแนะนำสั่งเสียแก่ข้าฯ ด้วยเถิด! พระองค์ทรงตรัสว่า : ข้าขอกำชับสั่งเสียเจ้าในเรื่องของบิดาของเจ้า ท่านอิมามบากิร (อ.) ได้กล่าวเสริมว่า : ด้วยเหตุเช่นนี้จึงกล่าวได้ว่า สิทธิในการทำดีต่อมารดาคือ สองในสาม และสำหรับบิดาคือหนึ่งในสาม” (4)

หมายเหตุ : แม้ว่าในฮะดีษ (วจนะ) ทั้งหลายจะเน้นย้ำถึงการทำดีต่อมารดามากกว่าการทำดีต่อบิดา แต่ในฮะดีษ (วจนะ) บทนี้มีความเป็นไปได้ว่า การเน้นย้ำดังกล่าวที่มีต่อท่านศาสดามูซา (อ.) นั้นเนื่องมาจากคุณลักษณะเฉพาะของมารดาของท่าน

    ท่านอิมามริฎอ (อ.) ได้กล่าวถึงเอกสิทธิ์ของมารดาว่า : “พึงรู้เถิดว่า สิทธิของมารดานั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นและเป็นวาญิบที่สุด เนื่องจากนางอุ้มลูกน้อยโดยที่ไม่มีใครจะอุ้มมันเช่นนี้ นางจะใช้หู ตาและอวัยวะทุกส่วนเฝ้าระวังลูกน้อยอย่างมีความสุขและมีความหวัง นางจึงอุ้มลูกน้อยแม้จะด้วยความยากลำบากเพียงใดก็ตาม โดยที่ไม่มีใครที่จะอดทนต่อความยากลำบากเช่นนี้ และนางยอมที่จะหิวโหยเพื่อให้ลูกของนางอิ่ม ยอมกระหายเพื่อให้ลูกได้ดื่มกิน ยอมอัตคัดเสื้อผ้าเพื่อให้ลูกได้สวมใส่ ยอมให้ร่มเงาแก่ลูกน้อย ขณะที่เธออยู่กลางแสงแดด ดังนั้นจงขอบคุณมารดาและทำดีและสุภาพอ่อนโยนต่อนางเท่าที่สามารถกระทำได้ ถึงแม้ว่าท่านจะไม่สามารถกระทำในสิ่งที่เป็นสิทธิที่น้อยที่สุดของนาง เว้นแต่ด้วยความช่วยเหลือของอัลลอฮ์ และแน่นอนยิ่งอัลลอฮ์ผู้ทรงเกริกเกียรติผู้ทรงเกรียงไกรได้ทรงกำหนดสิทธิของนางไว้เคียงคู่กับสิทธิของพระองค์ โดยที่พระองค์ทรงตรัสว่า : และเจ้าจงของคุณต่อข้าและต่อผู้ให้กำเนิดทั้งสองของเจ้า (และจงระวังจากการเนรคุณ) เพราะทุกคนจะต้องกลับคืนไปยังข้า”  (5)

สถานะและสิทธิของบิดา

   การรับรู้เกี่ยวกับสิทธิ คุณค่าและสถานะของบิดาคือก้าวแรกในการทำดีต่อท่าน ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) กล่าวว่า :

رِضَا الرَّبِّ فِي رِضَا الْوَالِدِ، وَسَخَطُ الرَّبِّ فِي سَخَطِ الْوَالِدِ

“ความพึงพอพระทัยขององค์พระผู้อภิบาลอยู่ในความพึงพอใจของบิดาและความโกรธขององค์พระผู้อภิบาลอยู่ในความโกรธของบิดา” [6]

บิดา บ่อเกิดของความดีงาม (เนี๊ยะอ์มัต)

    ท่านอิมามซัจญาด (อ.) กล่าวว่า : “สิทธิของบิดาก็คือการที่ท่านจะรู้ว่าบิดาเป็นผู้ให้กำเนิดท่านและท่านเป็นหน่อเนื้อเชื้อขัยของท่าน และหากท่านไม่มีเขาแล้วท่านก็จะไม่ถือกำเนิดขึ้นมา ดังนั้นเมื่อใดก็ตามที่ท่านพบสิ่งดีงามในตัวเองที่ทำให้ท่านรู้สึกประหลาดใจ (และมีความสุขใจ) แล้วก็จงรู้เถิดว่า บิดาของท่านคือบ่อเกิดของความดีงาม (เนี๊ยะอ์มัต) ที่ท่านมีอยู่ และจงสรรเสริญและขอบคุณอัลลอฮ์ให้มากเพียงนั้น” (7)

    ท่านอิมามริฎอ (อ.) ก็กล่าวในเรื่องนี้เช่นกันว่า : “ท่านจงเชื่อฟังและทำดีต่อบิดาและจงอ่อนน้อมถ่อมตน จงเถิดทูนและให้เกียรติเขาและจงลดเสียงต่อหน้าเขา เพราะแท้จริงบิดานั้นคือผู้ให้กำเนิดและลูกนั้นคือหน่อเนื้อเชื้อขัยของเขา หากไม่มีบิดาแล้วอัลลอฮ์ก็จะไม่ทรงลิขิตให้ลูกถือกำเนิดขึ้นมา (ดังนั้น) พวกท่านจงใช้ทรัพย์สิน เกียรติและชีวิตของพวกท่านไปเพื่อบิดา ... ชีวิตของท่านและทรัพย์สินของท่านนั้นมาจากบิดาของท่าน ดังนั้นจงปฏิบัติตามบิดาในโลกนี้ด้วยการปฏิบัติตามที่ดีที่สุด และหลังจากการตายของพวกเขาจงขอดุอาอ์ให้พวกเขาและจงขอความเมตตา (จากอัลลอฮ์) แก่พวกเขา ...” (8)

    แน่นอนว่านี่ไม่ได้หมายความว่า บิดามีสิทธิ์ที่จะอธรรมต่อลูก แต่ถ้าหากอธรมต่อลูกพวกเขาก็จะประสบกับการเนรคุณจากลูก

การทำดีต่อบิดาอย่างต่อเนื่อง

    ท่านอิมามริฎอ (อ.) ในขณะที่ได้กำชับสั่งเสียเกี่ยวกับการขอดุอาอ์ให้แก่บิดาภายหลังจากการตายของตน ท่านกล่าวว่า มีรายงาน (จากท่านศาสดา) ว่า : “ผู้ใดก็ตามที่ทำดีต่อบิดาของตนในขณะที่เขายังมีชีวิตอยู่ แต่หลังจากการเสียชีวิตของบิดาเขาไม่ได้ขอดุอาอ์ให้ อัลลอฮ์จะทรงเรียกเขาว่าผู้เนรคุณ” (10)

    ท่านอิมามบากิร (อ.) กล่าวว่า :

إنّ العَبدَ لَيكونُ بارّا بِوالِدَيهِ في حياتِهِما، ثُمّ يَموتانِ فلا يَقضي عَنهُما دُيونَهُما ولا يَستَغفِرُ لَهُما فيَكتُبُهُ اللّه‏ عاقّا

“แท้จริงบ่าว (ของพระเจ้า) บางครั้งเขาเป็นผู้กระทำดี (และแสดงความกตัญญู) ต่อผู้ให้กำเนิดทั้งสองของเขาในช่วงเวลาที่ท่านทั้งสองยังมีชีวิตอยู่ แต่เมื่อท่านทั้งสองเสียชีวิต เขากลับไม่ชดใช้หนี้สินแทนบุคคลทั้งสอง และไม่วิงวอนขออภัยโทษให้แก่ท่านทั้งสอง อัลลอฮ์จะทรงบันทึกเขาว่าเป็นลูกเนรคุณ”

การตัดความสัมพันธ์กับบิดามารดา

    พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงตำหนิประณามการตัดสัมพันธ์กับบิดามารดา และทรงขู่สำทับเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ บรรดาผู้ที่ดูถูกเหยียดหยามและทำลายเกียรติบิดามารดาของตน เขาจะต้องเผชิญกับจุดจบที่เลวร้าย

    ในคัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวว่า :

وَالَّذِي قَالَ لِوَالِدَيْهِ أُفٍّ لَّكُمَا .....  أُولَٰئِكَ الَّذِينَ حَقَّ عَلَيْهِمُ الْقَوْلُ فِي أُمَمٍ قَدْ خَلَتْ مِن قَبْلِهِم مِّنَ الْجِنِّ وَالْإِنسِ ۖ إِنَّهُمْ كَانُوا خَاسِرِينَ

"และผู้ที่กล่าวกับผู้ให้กำเนิดทั้งสองของเขา (เมื่อทั้งสองได้เรียกร้องเขาไปสู่การยอมรับวันฟื้นคืนชีพ) ว่า อุ๊ฟ แก่ท่านทั้งสอง (น่ารำคาญท่านทั้งสองเหลือเกิน) ..... พวกเหล่านั้นคือพวกที่ปกาสิต (แห่งการลงโทษของอัลลอฮ์) เป็นที่คู่ควรแก่พวกเขา (เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว) ในหมู่ประชาชาติทั้งหลาย ทั้งจากญินและมนุษย์ที่ล่วงลับไปก่อนหน้าพวกเขา แท้จริงพวกเขาเป็นผู้ขาดทุน" (12)

   โองการนี้ไม่เพียงแต่เกี่ยวกับบรรดาลูกที่เป็นผู้ปฏิเสธศรัทธาเท่านั้น ทว่าจุดเน้นของมันคือการตำหนิประณามการดูหมิ่นและการทำลายเกียรติบิดามารดา ทำนองเดียวกับที่พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงตำหนิประณามและทรงตรัสไว้ในอีกโองการหนึ่งว่า :

فَلَا تَقُل لَّهُمَا أُفٍّ وَلَا تَنْهَرْهُمَا

“ดังนั้นจงอย่ากล่าวกับทั้งสองว่า อุฟ! และอย่าขู่ตะคอกท่านทั้งสอง” (13)

    ท่านศานทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) กล่าวว่า :

إَيَّاكُمْ وَ عُقُوْقُ الْوَالِدَيْنِ ، فَإِنَّ رِيحَ الْجَنَّةِ يُوجَدُ مِنْ مَسِيرَةِ أَلْفِ عَامٍ وَاَللَّهِ لَا يَجِدُهَا عَاقٌّ وَلَا قَاطِعُ رَحِمٍ

“ท่านทั้งหลายจงระวังการเนรคุณต่อผู้ให้กำเนิดทั้งสอง เพราะแท้จริงกลิ่นของสวรรค์จะมาถึงในระยะทางพันปี ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ ผู้ที่เนรคุณ (ต่อผู้ให้กำเนิดทั้งสอง) ผู้ตัดสัมพันกับเครือญาติไม่ได้สัมผัสมัน” (14)

    ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า :

أَدْنَى الْعُقُوقِ أُفٍّ ، وَ لَوْ عَلِمَ اللَّهُ أَيْسَرَ مِنْهُ لَنَهَى عَنْهُ

“ขั้นต่ำสุดของการเนรคุณ (ต่อบิดามารดา) คือ (การกล่าวคำว่า) อุฟ (การแสดงความไม่พอใจ) และหากอัลลอฮ์ทรงรู้ถึงสิ่งที่เล็กน้อยมากกว่านั่น พระองค์ก็จะต้องห้ามมัน” (15)

   นอกจากนี้ท่านยังกล่าวอีกว่า :

مَنْ نَظَرَ إِلَى أَبَوَيْهِ نَظَرَ مَاقِتٍ وَ هُمَا ظَالِمَانِ لَهُ لَمْ يَقْبَلِ اللَّهُ لَهُ صَلَاةً

“ใครก็ตามที่มองไปยังพ่อแม่ของเขาด้วยการมองของผู้ที่มีความโกรธ ในขณะที่เขาทั้งสองเป็นผู้อธรรมต่อเขา อัลลอฮ์จะไม่ทรงยอมรับการนมาซของเขา” (16)

   ขั้นที่ร้ายแรงที่สุดในการเนรคุณต่อบิดามารดา คือการฆ่าพวกเขา ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) กล่าวว่า :

إِنَّ فَوْقَ كُلِّ عُقُوْقٍ عُقُوْقًا حَتّى يَقْتُلَ الرَّجُلُ أَحَدَ وَالِدَيْهِ فَإِذَا فَعَلَ ذلِكَ فَلَيْسَ فَوْقَهُ عُقُوْقٍ

"เหนือทุกการเนรคุณ (ต่อผู้ให้กำเนิดทั้งสอง) ก็ยังมีการเนรคุณอีก จนกระทั่งมนุษย์จะฆ่าคนหนึ่งคนใดจากผู้ให้กำเนิดทั้งสองของเขา เมื่อเขากระทำเช่นนั้นจะไม่มีการเนรคุณใดเหนือมันอีก” (17)

   จุดประสงค์จากการเนรคุณบิดามารดาก็คือการอธรรมและการทำร้ายบุคคลทั้งสอง ซึ่งจะเป็นสาเหตุนำไปสู่การทำลายความสัมพันธ์ทางสายเลือดกับพวกเขา (18)

ผลบางประการของการกระทำที่เลวร้ายต่อบิดามารดา

   การแสดงพฤติกรรมที่ไม่ดีต่อบิดามารดานั้น นอกเหนือจากโทษทัณฑ์ในปรโลกแล้วยังมีผลพวงที่เลวร้ายที่จะเกิดขึ้นในโลกนี้อีกด้วย ในฮะดีษกุดซีบทหนึ่งพระผู้เป็นเจ้าทรงตรัสว่า :

بِعِزَّتِيْ وَجَلَالِيْ وَ ارْتِفَاعِ مَكَانِيْ لَوْ أَنَّ الْعَاقَّ بِوَالِدَيْهِ يَعْمَلْ بِأَعْمَالِ الْأَنْبِيَاءِ جَمِيْعًا لَمْ أَقْبَلْهَا مِنْهُ

“ข้าขอสาบานด้วยเกียรติและความเกรียงไกรของข้าและสถานะอันสูงส่งของข้าว่า หากแม้นผู้เนรคุณต่อผู้ให้กำเนิดทั้งสองของเขาจะกระทำอะมั้ลต่างๆ ของปวงศาสดาทั้งหมด ข้าก็จะไม่ยอมรับมันจากเขา” (19)

   ท่านอิมามฮาดี (อ.) กล่าวว่า :

الْعُقُوقُ يُعْقِبُ الْقِلَّةَ وَ يُؤَدِّي إِلَى الذِّلَّة

“การเนรคุณ (ต่อบิดามารดา) นั้นจะทำให้มีทายาทน้อยและจะนำไปสู่ความอัปยศ (ในโลกนี้)” (20)

   ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า : หนึ่งในผลกระทบทางโลกของการเนรคุณต่อบิดามารดาคือ การถูกยับยั้งจากการตอบรับดุอาอ์และจะทำให้สภาพทางจิตวิญญาณมืดมัวลง” (21)


เชิงอรรถ :

(1). อัลฟะกีฮ์, เชคกุลัยนี, เล่ม 2, หน้า 621

(2). การละทิ้งและการออกจากนมาซมุสตะฮับนั้นถือว่าไม่เป็นไร

(3). มุสตัดร็อก อัลวะซาอิล, มุฮัดดิษนูรี, เล่ม 15, หน้า 181

(4). อัลอะมาลี, เชคซุดูก, หน้า 511

(5). ฟิกฮุรริฎอ (อ.), หน้า 334

(6). ซุนัน ติรมีซี, เล่ม 3, หน้า 207

(7).ตุหะฟุลอุกูล, หน้า 263

(8). ฟิกฮุรริฎอ (อ.), หน้า 334: บิฮารุ้ลอันวาร, เล่ม 71, หน้า 76-77

(9). อัลกาฟี, เล่ม 5, หน้า 136

(10). ฟิกฮุรริฎอ (อ.), หน้า 334: บิฮารุ้ลอันวาร, เล่ม 71, หน้า 77

(11). อัซซุฮ์ดุ, หน้า 33

(12). อัลกุรอานบทอัลอะห์ก๊อฟ โองการที่ 17-18

(13). อัลกุรอานบทอัลอิสรออ์ โองการที่ 23

(14). อัลกาฟี, เล่ม 2, หน้า 349

(15). อัลกาฟี, เล่ม 2, หน้า 349

(16). อัลกาฟี, เล่ม 2, หน้า 349

(17). อัลกาฟี, เล่ม 2, หน้า 348

(18). มัจญ์มะอุ้ลบะห์ร็อยน์, เล่ม 5, หน้า 215 (อัยน์ ก๊อฟ ก๊อฟ)

(19). ญามิอุซซะอาตาต, เล่ม 2, หน้า 271

(20). บิฮารุ้ลอันวาร, เล่ม 71, หน้า 84

(21). อัลกาฟ๊, เล่ม 2, หน้า 448


แปลและเรียบเรียง : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

Copyright © 2018 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่

ผู้เยี่ยมชมอยู่ขณะนี้

มี 948 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์

9909141
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
48269
66240
384686
9045061
1760675
2060970
9909141

ศ 26 เม.ย. 2024 :: 19:36:03