ลักษณะนิสัยของคนทราม
Powered by OrdaSoft!
No result.

ลักษณะนิสัยของคนทราม

      “โองการต่างๆ ของคัมภีร์อัลกุรอานและบรรดาฮะดีษของอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) ชี้ให้เห็นว่าการคุกคามและการทำร้ายผู้อื่นนั้นไม่เพียงจะนำไปสู่โทษทัณฑ์ในปรโลกเท่านั้น แต่ยังจะทำให้ชีวิตทางโลกนี้เป็นเหมือนนรกที่ที่จะนำความทุกข์ยากมาสู่มนุษย์...”

    พฤติกรรมและคำพูดของมนุษย์มีผลกระทบที่สำคัญต่อชะตากรรมของมนุษย์เอง พฤติกรรมที่ดีงามนั้นสามารถที่จะยกระดับของมนุษย์ให้มีสถานะสูงส่งได้ ในทางกลับกันพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมก็สามารถที่จะทำให้มนุษย์สูญเสียเกีนรติและความน่าเคารพของตนไป การล่วงละเมิดและการทำร้ายผู้อื่นเป็นพฤติกรรมที่เลวร้ายที่มนุษย์บางคนจะแสดงออก การล่วงละเมิดและการทำร้ายผู้อื่นดังกล่าวนี้มีระดับและรูปแบบต่างๆ บางครั้งเราเห็นบุคคลคนหนึ่งล่วงละเมิดและทำร้ายผู้อื่นด้วยลิ้นและคำพูดของเขา อย่างเช่นด้วยการพูดจาถากถาง การเปรียบเปรย การล้อเลียน การเยาะเย้นและการดูถูกดูแคลนเขา คนเหล่านี้เคยชินกับการพูดเหน็บแนม ถากถางและการเย้ยหยันผู้อื่น ไม่ยับยั้งลิ้นของตนเองจากคำพูดที่ไม่ดีงามและเหมาะสม ในการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นพวกเขาจะแสดงพฤติกรรมในสักษณะเช่นนี้ ในขณะที่พระผู้เป็นเจ้าทรงบัญชาให้เราใช้วาจาที่ดีงามต่อเพื่อนมนุษย์ โดยที่พระองค์ทรงตรัสไว้ในคัมภีร์อัลกุรอานว่า :

وَ قُولُوا لِلنَّاسِ حُسْناً

"และพวกเจ้าจงพูดกับเพื่อนมนุษย์ด้วยวาจาที่ดีงาม" (1)

     และในอีกโองการหนึ่งได้กำชับไม่ให้เราใช้วาจาเยาะเย้ย ถากถาง ดูถูกดูแคลนและให้ฉายานามแก่ผู้อื่น โดยที่พระองค์ทรงตรัสว่า :

يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا لَا يَسْخَرْ قَوْمٌ مِّن قَوْمٍ عَسَىٰ أَن يَكُونُوا خَيْرًا مِّنْهُمْ وَلَا نِسَاءٌ مِّن نِّسَاءٍ عَسَىٰ أَن يَكُنَّ خَيْرًا مِّنْهُنَّ ۖ وَلَا تَلْمِزُوا أَنفُسَكُمْ وَلَا تَنَابَزُوا بِالْأَلْقَابِ ۖ بِئْسَ الِاسْمُ الْفُسُوقُ بَعْدَ الْإِيمَانِ ۚ وَمَن لَّمْ يَتُبْ فَأُولَٰئِكَ هُمُ الظَّالِمُونَ

 "โอ้ศรัทธาชนทั้งหลาย! ชนกลุ่มหนึ่งอย่าได้เยาะเย้ยชนอีกกลุ่มหนึ่ง บางทีพวกเขา อาจจะดีกว่าชนกลุ่มที่เยาะเย้ย และสตรีกลุ่มหนึ่งอย่าได้เยาะเย้ยสตรีอีกกลุ่มหนึ่ง บางที่พวกนางอาจจะดีกว่าสตรีกลุ่มที่เยาะเย้ย และพวกเจ้าอย่าได้ตำหนิประณามกันเอง และอย่าได้เรียกขานกันด้วยฉายา (ที่ไม่ชอบ) การเรียกขาน (บุคคลด้วย) ชื่อที่น่าเกลียด ภายหลังจากความมีศรัทธานั้น ช่างเลวทรามยิ่งนัก และผู้ใดไม่สำนึกผิด แน่นอนพวกเหล่านั้นคือบรรดาผู้อธรรม" (2)

      ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้ชี้ถึงการคุกคามและการทำร้ายผู้อื่นว่าเป็นหนึ่งในลักษณะนิสัยของคนเลว โดยกล่าวว่า :

عَادَةُ الْأَشْرَارِ أَذِیةُ الرِّفَاق‌

 "นิสัยของคนเลวคือการคุกคามทำร้ายหมู่มิตร" (3)

      และในอีกที่หนึ่งท่านชี้ให้เห็นว่าการคุกคามและการทำร้ายผู้คนที่มีเกียรติและเป็นอิสระชนนั้นเป็นลักษณะนิสัยของคนต่ำทราม โดยกล่าวว่า :

عَادَةُ اللِّئَامِ وَ الْأَغْمَارِ أَذِیةُ الْکِرَامِ وَ الْأَحْرَار

 "นิสัยของคนทรามและคนโง่นั้นคือการคุกคามทำร้ายคนมีเกียรติและอิสระชน" (4)

      ความเลวร้ายของการคุกคามทำร้ายผู้อื่นนั้นใหญ่หลวงมาก ถึงขั้นที่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) กล่าวว่า :

مَن آذى مُؤمنا فَقَدْ آذانی

 "ผู้ใดทำร้ายผู้ศรัทธา แน่นอนเขาทำร้ายฉัน" (5)

      คำพูดดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นในการละทิ้งการคุกคามทำร้ายผู้อื่น ดังนั้นมุสลิมที่แท้จริงจึงเป็นบุคคลที่หลีกเลี่ยงการคุกคามทำร้ายผู้อื่น ในทางตรงกันข้ามมุสลิมที่แท้จริงนั้นจะต้องยังคุณประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ ด้วยเหตุนี้เองท่านศาสดา (ซ็อลฯ) จึงกล่าวในวจนะบทหนึ่งของท่านว่า :

المُسلِمُ مَن سَلِمَ المُسلِمونَ مِن یَدِهِ وَ لِسانِهِ

“มุสลิมนั้นคือผู้ที่บรรดามุสลิมจะปลอดภัยจากมือและลิ้นของเขา" (6)

และท่านอิมามซัยนุลอาบิดีน (อ.) ถือว่าการไม่คุกคามทำร้ายผู้อื่นนั้นคือเครื่องบ่งชี้ถึงความสมบูรณ์ของสติปัญญาและความปลอดภัยทั้งในโลกนี้และปรโลก โดยท่านกล่าวว่า :

کَفُّ الأَذى‌ مِن کَمالِ العَقلِ وَ فیهِ راحَةُ البَدَنِ عاجِلاً وَ آجِلاً

"การยับยั้งตนจากการคุกคามทำร้ายผู้อื่นนั้นเป็นส่วนหนึ่งจากความสมบูรณ์ของปัญญาและความปลดภัยของร่างกายทั้งในโลกนี้และปรโลก" (7)

      ดังนั้นการคุกคามและการทำร้ายผู้อื่นไม่ว่าจะในรูปแบบและวิธีใดๆ ก็ตามเป็นการยังอันตรายต่อเพื่อนมนุษย์และไม่เพียงนำไปสู่โทษทัณฑ์ในปรโลกเท่านั้น แต่ยังจะทำให้ชีวิตทางโลกนี้เป็นเหมือนนรกที่ที่จะนำความทุกข์ยากมาสู่มนุษย์ คนที่คุกคามทำร้ายผู้อื่นนั้นหากเขารู้ว่าการกระทำของเขาเป็นพฤติกรรมของคนโง่เขลา ดั่งเช่นบรรดาผู้ที่ทำการคุกคามและทำร้ายปวงศาสดาและบรรดาอิมาม (อ.) ผู้บริสุทธิ์ในตลอดช่วงชีวิตของท่านเหล่านั้น แน่นอนพวกเขาจะหาทางออกจากพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์นี้อย่างแน่นอน ในช่วงท้ายของเนื้อหานี้ขอฝากฮะดีษ (วจนะ) บทหนึ่งของท่านอิมามซอดิก (อ.) เกี่ยวกับโทษทัณฑ์ของบรรดาผู้คุกคามทำร้ายผู้อื่น เพื่อเป็นการเตือนสติคัวเราไม่ให้แสดงออกด้วยพฤติกรรมที่เลวร้ายเหล่านี้กับผู้อื่น โดยท่านกล่าวว่า :

إِذا کانَ یومُ القیامةِ نادى منادٍ : أَینَ الصدودُ لأَولِیائِی؟ فیقومُ قومٌ لیسَ على وجوهِهِم لَحْمٌ فیُقَالُ : هؤلاءِ الّذینَ آذَوْا المؤمنینَ و نصبُوا لهم و عانَدوُهم و عنَّفُوهُم فی دِینِهِم ثمّ یؤمرُ بِهِمْ إلى جَهَنَّمَ

"เมื่อวันแห่งการฟื้นคืนชีพมาถึง ผู้ป่าวประกาศจะป่าวประกาศว่า : บรรดาผู้คุกคามทำร้ายหมู่มิตรของข้าอยู่ไหน? แล้วคนกลุ่มหนึ่งจะยืนขึ้นโดยที่ใบหน้าพวกเขาพวกเขาไม่มีเนื้อหนัง แล้วมีผู้กล่าวว่า : คนเหล่านี้คือพวกที่ทำร้ายบรรดาผู้ศรัทธา ตั้งตัวเป็นศัตรูกับพวกเขา ต่อต้านพวกเขาและแสดงความป่าเถื่อนต่อพวกเขาในศาสนาของพวกเขา จากนั้นจะมีปัญชาให้นำพวกเขาไปลงนรก” (8)


แหล่งที่มา :

1.อัลกุรอานบทอัลบะกอเราะฮ์ โองการที่ 83

2.อัลกุรอานบทอัลฮุญุร๊อต โองกาที่ 11

3.ฆุร่อรุลหิกัม, ฮะดีษที่ 6245

4.ฆุร่อรุลหิกัม, ฮะดีษที่ 6246

5.เราฎอตุลวาอิซีน, เล่ม 2, หน้า 293

6.อัล อามาลี, เชคฏูซี, หน้า 540

7.อัลกาฟี, เล่ม 1, หน้า 20

8.อัลกาฟี, เล่ม 2, หน้า 351


บทความ : เชคมุฮัมมัดนาอีม  ประดับญาติ

Copyright © 2018 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่

ผู้เยี่ยมชมอยู่ขณะนี้

มี 758 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์

9889620
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
28748
66240
365165
9045061
1741154
2060970
9889620

ศ 26 เม.ย. 2024 :: 11:33:27