สิทธิของเพื่อนมนุษย์ (ฮักกุนนาส)
Powered by OrdaSoft!
No result.

สิทธิของเพื่อนมนุษย์ (ฮักกุนนาส)

       ในคำสอนของอิสลามได้แบ่งสิทธิโดยรวมไว้สองประการ ที่มุสลิมจะต้องระวังรักษาหรือปฏิบัติตามสิทธิดังกล่าว ได้แก่ หนึ่ง "ฮักกุลลอฮ์" (สิทธิของอัลลอฮ์) และสอง "ฮักกุนนาส" (สิทธิของเพื่อนมนุษย์) การละเมิดสิทธิของอัลลอฮ์ที่พระองค์ทรงกำหนดเหนือมนุษย์แม้จะเป็นเรื่องที่ใหญ่หลวงก็ตาม แต่โอกาสที่พระองค์จะทรงอภัยโทษให้แก่บ่าวของพระองค์นั้นเป็นเรื่องที่ง่ายดายกว่าการอภัยโทษต่อบ่าวที่ละเมิดสิทธิของเพื่อนมนุษย์

       อัลลอฮ์ทรงให้ความสำคัญต่อการระวังรักษาสิทธิของเพื่อนมนุษย์มากกว่าสิทธิของพระองค์เอง และโดยธรรมชาติแล้ว ใครก็ตามที่ไม่ระวังรักษาสิทธิของเพื่อนมนุษย์ ก็เป็นเรื่องยากที่เขาจะระวังรักษาสิทธิของอัลลอฮ์ได้อย่างสมบูรณ์

      ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวว่า :

 جَعلَ الله سُبحانه حُقوقّ عبادِهِ مُقدّمهً علَی حُقُوقهِ فَمنْ قامَ بِحقُوقُ عبادالله کانَ ذلك مودّیاً الی القیامِ بِحقوقِ الله

      อัลลอฮ์ (ซ.บ.) ทรงกำหนดให้สิทธิของปวงบาวของพระองค์มาก่อนสิทธิของพระองค์ ดังนั้นผู้ใดที่ดำรงรักษาสิทธิต่างๆ ของปวงบ่าวของพระองค์ สิ่งดังกล่าวก็จะนำไปสู่การดำรงรักษาสิทธิต่างๆ ของอัลลอฮ์

(มีซานุ้ลฮีกมะฮ์ เล่ม 2 หน้า 480)

      ในวจนะอีกบทหนึ่ง ท่านกล่าวว่า :

 اَمّا الظّلم الّذی لا یُترکُ، فَظلمُ العباد بَعضُهُم بعضاً

 สำหรับความอธรรม (และการละเมิดสิทธิ์) ที่จะไม่ถูกละเว้น (และไม่ได้รับการอภัยโทษ) นั้นคือความอธรรมที่ปวงบ่าวมีต่อกันและกัน

(นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ คุฏบะฮ์ที่ 175)

       คัมภีร์อัลกุรอานได้อธิบายถึงวิธีการชดใช้สิทธิที่ถูกละเมิดของปวงบ่าวที่จะเกิดขึ้นในวันกิยามะฮ์ (ปรโลก) ไว้อย่างชัดเจน โดยกล่าวว่า :

 يَوْمَ يَرَوْنَ الْمَلَائِكَةَ لَا بُشْرَىٰ يَوْمَئِذٍ لِّلْمُجْرِمِينَ وَيَقُولُونَ حِجْرًا مَّحْجُورًا وَقَدِمْنَا إِلَىٰ مَا عَمِلُوا مِنْ عَمَلٍ فَجَعَلْنَاهُ هَبَاءً مَّنثُورًا

       วันที่พวกเขาจะเห็นมะลาอิกะฮ์ (ทวยเทพ) ในวันนั้นจะไม่มีข่าวดีสำหรับผู้ที่กระทำความผิด และมะลาอิกะฮ์ (ทวยเทพ) จะกล่าวว่า

“สวรรค์จะถูกห้ามอย่างเด็ดขาดสำหรับพวกเขา” และเรามุ่งสู่ (ตรวจสอบ) การงานที่พวกเขาได้ปฏิบัติไว้ แล้วเราจะทำให้มันไร้คุณค่ากลายเป็นละอองผุ่นที่ปลิวว่อน"

(อัลกุรอานบทอัลฟุรกอน โองการที่ 22-23)

       บนพื้นฐานของโองการนี้ มนุษย์บางคนในวันกิยามะฮ์ (ปรโลก) นั้น อะมั้ล (การกระทำ) และความดีงามต่างๆ ที่พวกเขาเคยปฏิบัติไว้ อย่างเช่น การอิบาดะฮ์ต่างๆ และการบริจากทาน เขาจะพบเห็นมันปลิวว่อนเหมือนฝุ่นละอองที่ไร้ค่า กล่าวคือ ความดีงามที่เขากระทำไว้นั้นจะเป็นโมฆะและสูญเปล่า เขาจะไม่ได้รับผลของความดีงามต่างๆ ที่เขาปฏบัติไว้ เหตุผลดังกล่าวสามารถรับรู้ได้จากวจนะและคำสอนของอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.)

      มีผู้ถามท่านอิมามซัจญาด (อ.) ว่า "หากบุคคลผู้หนึ่งได้ละเมิดสิทธิของพี่น้องมุสลิมของเขา (ในวันกิยามะฮ์) เขา (ผู้ถูกละเมิดสิทธิ) จะทวงสิทธิของเขาคืนได้อย่างไร" ท่านอิมาม (อ.) ได้ตอบว่า "ในวันกิยามะฮ์ สิทธิของผู้ถูกอธรรมจะถูกเอาคืนจากความดีงามของผู้อธรรมในปริมาณเดียวกัน และจะถูกเพิ่มเข้ากับความดีงามของผู้ถูกอธรรม"

      พวกเขาได้ถามต่อไปอีกว่า "หากผู้อธรรมไม่มีความดีงามใดๆ ที่เขากระทำไว้เลย จะเป็นอย่างไร" ท่านอิมาม (อ.) ได้กล่าวตอบว่า :

 ان لم یکن للظالم حسنات فانَّ للمظلوم سیئات یوخذ من سیئات المظلوم فتزاد علی سیئات الظالم

 หากผู้อธรรมไม่มีความดีงามใดๆ และผู้ถูกอธรรมมีความชั่วอยู่ ดังนั้นความชั่วของผู้ถูกอธรรมจะถูกยกออกไป และจะถูกนำไปเพิ่มลงในความชั่วของผู้อธรรม

(อัลกาฟี เล่ม 8 หน้า 106)

สิทธิต่างๆ ของเพื่อนมนุษย์ที่เราจะต้องระวังรักษานั้น สามารถสรุปได้ 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ

  1. การระวังรักษาและการเคารพในทรัพย์สินของผู้อื่น
  2. การระวังรักษาและการเคารพในชีวิตของผู้อื่น
  3. การระวังรักษาและการเคารพในเกียรติศักดิ์ศรีและชื่อเสียงของผู้อื่น

      ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า :

 مَن کسَرَ مۆمِناً فَعلَیْه جَبْرُهُ

 ผู้ใดที่ทำลายเกียรติของผู้ศรัทธา ดังนั้นจำเป็นที่เขาจะต้องชดใช้มัน

(บิฮารุ้ลอันวาร เล่ม 22 หน้า 351)


ส่วนหนึ่งจากคุตบะฮ์นมาซวันศุกร์ มัสยิดซอฮิบุซซะมาน (อ.)

เรียบเรียง : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับ

ผู้เยี่ยมชมอยู่ขณะนี้

มี 1166 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์

9887546
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
26674
66240
363091
9045061
1739080
2060970
9887546

ศ 26 เม.ย. 2024 :: 10:38:19