คุณลักษณะทางจริยธรรมสองประการของอิมามญะวาด (อ.) ในกระจกเงาแห่งอัลกุรอาน
Powered by OrdaSoft!
No result.
คุณลักษณะทางจริยธรรมสองประการของอิมามญะวาด (อ.) ในกระจกเงาแห่งอัลกุรอาน

ท่านอิมามญะวาด (อ.) ต้นแบบสำหรับเยาวชนในเรื่องตักวา (ความยำเกรงพระเจ้า) ท่านอิมามญะวาด (อ.) ก็เช่นเดียวกับอิมาม มะอ์ซูม (อ.) ท่านอื่นๆ เป็นผู้ที่ไม่บกพร่องในเรื่องที่เป็นส่วนตัวและเรื่องทางสังคมทั้งหมด ในบทความนี้ เราจะมาพิจารณาคุณลักษณะส่วนตัวบางประการของอิมาม (อ.) ท่านนี้ โดยเน้นที่จริยธรรมส่วนตัวของท่านตามโองการต่างๆ ของคัมภีร์อัลกุรอาน

    อะฮ์ลุลบัยต์ ผู้บริสุทธิ์ (อ.) คือภาพสะท้อนในทางปฏิบัติของคัมภีร์อัลกุรอาน ดังที่ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) กล่าวในวันฆอดีรคุมว่า :

مَعَاشِرَ النَّاسِ: هَذَا عَلِيٌّ أَنْصَرُكُمْ لِي وَ أَحَقُّكُمْ بِي وَ أَقْرَبُكُمْ إِلَيَّ وَ أَعَزُّكُمْ عَلَيَّ وَ اللَّهُ عَزَّ وَ جَلَّ وَ إنِّا عَنْهُ رَاضِيَانِ، وَ مَا نَزَلَتْ آيَةُ رِضًى إِلَّا فِيهِ، وَ مَا خَاطَبَ اللَّهُ‏ الَّذِينَ آمَنُوا إِلَّا بَدَأَ بِهِ، وَ لَا نَزَلَتْ آيَةُ مَدْحٍ فِي الْقُرْآنِ إِلَّا فِيهِ

 "โอ้ประชาชนเอ๋ย! นี่คืออะลี ผู้ที่ช่วยฉันมากที่สุด ผู้ที่มีความคู่ควรมากที่สุด ผู้ที่ใกล้ชิดและเป็นที่รักที่สุดสำหรับฉันในหมู่พวกท่าน อัลลอฮ์ผู้ทรงเกริกเกียรติ และฉันพึงพอใจต่อเขา ไม่มีโองการใดในเรื่องความพึงพอใจ (ริฎอ) ที่ถูกประทานลงมา เว้นแต่ว่ามันเกี่ยวกับเขา และอัลลอฮ์ไม่ทรงตรัสแก่บรรดาผู้ศรัทธา เว้นแต่ว่าพระองค์จะทรงเริ่มต้นที่เขาก่อน และไม่มีโองการใดในเรื่องของการสรรเสริญได้ถูกประทานลงมาในอัลกุรอาน นอกจากเกี่ยวกับเขา" (1)

    ท่านอิมามญะวาด (อ.) ก็เช่นเดียวกับอิมาม มะอ์ซูม (อ.) ท่านอื่นๆ เป็นผู้ที่ไม่บกพร่องในเรื่องที่เป็นส่วนตัวและเรื่องทางสังคมทั้งหมด ในบทความนี้ เราจะมาพิจารณาคุณลักษณะส่วนตัวบางประการของอิมาม (อ.) ท่านนี้ โดยเน้นที่จริยธรรมส่วนตัวของท่านตามโองการต่างๆ ของคัมภีร์อัลกุรอาน

คุณลักษณะตักวา (ความยำเกรงพระเจ้า)

    หนึ่งในสมยานามอันเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปของท่านอิมามญะวาด (อ.) คือ "ตะกี" ซึ่งหมายถึงผู้มีตักวา (ความยำเกรงพระเจ้า) ตักวาเป็นพลังป้องกันภายในที่จะคอยปกป้องบุคคลจากอันตรายทางจิตวิญญาณและศาสนา ในลักษณะเดียวกับที่ท่านศาสดายะห์ยา (อ.) บรรลุสถานะ (มะกอม) แห่งตักวา ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ท่านอิมามญะวาด (อ.) ก็ได้รับตำแหน่งอิมามัต (ผู้นำ) และวิลายัต (อำนาจปกครอง) ตั้งแต่วัยเด็กของท่านเช่นเดียวกัน คัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวเกี่ยวกับท่านศาสดายะห์ยา (อ.) ในขณะวัยเด็กว่า :

وَ حَنَانًا مِّن لَّدُنَّا وَ زَكَوةً  وَ كاَنَ تَقِيًّا

"และ (เราได้มอบ) ความเมตตา และความบริสุทธิ์จากเรา (แก่เขา) และเขาเป็นผู้มีความยำเกรงอย่างแท้จริง" (2)

    ในท่ามกลางเด็กทั้งหลายก็มีบรรดาผู้ที่มีความยำเกรง เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ของพวกเขา ดังที่ในบรรดาผู้ที่พระเจ้าทรงเลือกสรร เราสามารถกล่าวถึงผู้บริสุทธิ์ (มะอ์ซูม) อย่างเช่น ท่านศาสดาอีซา, ท่านศาสดายะห์ยา และท่านอิมามญะวาด (อ.)

    ความเป็นเยาวชนที่มีอายุน้อยของท่านอิมามญะวาด (อ.) ไม่ได้เป็นเหตุทำให้ความพยายามของมะอ์มูน (ผู้ปกครองแห่งอับบาซียะฮ์) ที่จะโน้มน้าวให้ท่านทำบาปนั้นบรรลุได้แม้แต่ประการเดียว มีรายงานว่าในช่วงเวลาที่ท่านแต่งงานกับลูกสาวของมะอ์มูน :

دَفَعَ إِلَى مِائَتَيْ وَصِيفَةٍ مِنْ أَجْمَلِ مَا يَكُونُ إِلَى كُلِّ وَاحِدَةٍ مِنْهُنَّ جَاماً فِيهِ‏ جَوْهَرٌ يَسْتَقْبِلْنَ أَبَا جَعْفَرٍ علیه السلام إِذَا قَعَدَ فِي مَوْضِعِ الْأَخْيَارِ فَلَمْ يَلْتَفِتْ إِلَيْهِن

"เขาได้เรียกสาวใช้ที่สวยที่สุดจำนวนสองร้อยคนมา และมอบถ้วยที่มีอัญมณีอยู่ในนั้นให้แต่ละคน เพื่อให้พวกนางมาคอยต้อนรับท่านอิมามญะวาด (อ.)  จนกระทั่งเมื่อท่านอิมามนั่งลงในสถานที่พิเศษที่เตรียมไว้สำหรับเจ้าบ่าว แต่ท่านอิมาม (อ.) ก็ไม่ได้หันไปมองพวกนางเลย" (3)

    นอกจากนี้ท่านยังแนะนำสั่งเสียผู้อื่นในเรื่องของตักวา (ความยำเกรงพระเจ้า) ดังเช่นที่ชายคนหนึ่งกล่าวกับท่านว่า : "ได้โปรดแนะนำและตักเตือนข้าพเจ้าด้วยเถิด"  ท่านกล่าวว่า : "เจ้าจะยอมรับการตักเตือนกระนั้นหรือ?" เขากล่าวว่า : "ใช่!" จากนั้นท่านอิมามญะวาด (อ.) ได้กล่าวว่า :

تَوَسَّدِ الصَّبْرَ وَ اعْتَنِقِ الْفَقْرَ وَ ارْفَضِ الشَّهَوَاتِ وَ خَالِفِ الْهَوَى وَ اعْلَمْ أَنَّكَ لَنْ تَخْلُوَ مِنْ عَيْنِ اللَّهِ فَانْظُرْ كَيْفَ تَكُونُ

“จงพึ่งพิงความอดทน จงน้อมรับความยากจน จงปฏิเสธความใตร่ และจงต่อต้านอารมณ์ฝ่ายต่ำ และจงรู้เถิดว่าเจ้าจะไม่อยู่นอกสายพระเนตรของอัลลอฮ์ ดังนั้นจงดูเถิดว่าเจ้าจะปฏิบัติอย่างไร" (4)

ความสมถะและการใช้ชีวิตที่เรียบง่าย

ความสมถะและการใช้ชีวิตที่เรียบง่ายเป็นหนึ่งในเงื่อนไขที่พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งทรงกำหนดไว้สำหรับบรรดาศาสดาและอิมามผู้บริสุทธิ์ (อ.) ทุกท่าน ดังที่เราอ่านในดุอา อัล-นุดบะฮ์ ว่า :

إِذِ اخْتَرْتَ لَهُمْ جَزِيلَ مَا عِنْدَكَ مِنَ النَّعِيمِ الْمُقِيمِ، الَّذِي لَا زَوَالَ لَهُ وَ لَا اضْمِحْلَالَ، بَعْدَ أَنْ شَرَطْتَ عَلَيْهِمُ الزُّهْدَ فِي زَخَارِفِ هَذِهِ الدُّنْيَا الدَّنِيَّةِ وَ زِبْرِجِهَا، فَشَرَطُوا لَكَ ذَلِكَ، وَ عَلِمْتَ مِنْهُمُ الْوَفَاءَ بِه

" เมื่อพระองค์ทรงเลือกความโปรดปรานอันล้นเหลือและยั่งยืนที่ไม่มีวันสูญสลายและไม่มีวันหมดสิ้น ที่มีอยู่ ณ พระองค์ให้แก่พวกเขา  หลังจากที่พระองค์ได้ทรงกำหนดเงื่อนไขเหนือพวกเขาในเรื่องของความสมถะต่อสีสันและเครื่องประดับของโลกอันต่ำต้อยนี้ แล้วพวกเขาก็ยอมรับเงื่อนไขดังกล่าวจากพระองค์  และพระองค์ก็ทรงรู้ถึงความซื่อสัตย์ต่อสัญญานั้นของพวกเขา" (5)

    ความสมถะไม่ได้หมายถึงความไม่มีและความยากจน แต่เป็นการปฏิเสธความผูกพัน และการยึดติดซึ่งจะทำให้บุคคลไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ทางศาสนาของตนได้ ด้วยเหตุนี้ ท่านอิมามญะวาด (อ.) จึงมีฐานะทางการเงินที่ดีในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่ท่านไม่เคยยึดติดทรัพย์สินและปัจจัยทางวัตถุของท่านเลย

    เมื่อมีคนเห็นท่านมีสภาพการดำเนินชีวิตทางวัตถุที่ดีในเมืองบกแดด เขาพูดกับตัวเองว่าท่านอิมามจะไม่มีวันกลับไปยังบ้านเกิดของท่านที่เมืองมะดีนะฮ์อีกแน่ ในช่วงเวลานี้เอง ท่านอิมามได้ก้มศีรษะลงแล้วเงยหน้าขึ้น และในสภาพที่สีหน้าของท่านซีดเผือดนั้น ท่านก็กล่าวกับเขาว่า :

خُبْزُ شَعِيرٍ وَ مِلْحُ جَرِيشٍ فِي حَرَمِ جَدِّي رَسُولِ اللَّهِ أَحَبُّ إِلَيَّ مِمَّا تَرَانِي فِيه

"ขนมปังข้าวบาร์เลย์และเกลือบด ในฮะรัม (สถานฝังศพ) ของท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ ตาของฉัน เป็นที่รักยิ่งสำหรับฉันกว่าสิ่งที่เจ้าเห็น" (6)

    ประเด็นนี้คือสิ่งที่สะท้อนภาพของโองการอัลกุรอานเกี่ยวกับความสมถะที่กล่าวว่า :

لِكَيْلا تَأْسَوْا عَلى‏ ما فاتَكُمْ وَ لا تَفْرَحُوا بِما آتاكُم‏

"เพื่อพวกเจ้าจะได้ไม่โศกเศร้ากับสิ่งที่สูญเสียไป และจะไม่ยินดีกับสิ่งที่พระองค์ประทานแก่พวกเจ้า" (7)


เชิงอรรถ :

(1) อัลอิห์ติญาจ, อะห์มัด บิน อะลี ฏอบาร์ซี, เล่ม 1, หน้า 61

(2) อัลกุรอานบทมัรยัม โองการที่ 13

(3) อัลกาฟี, มุฮัมมัด บินยะอ์กูบ กุลัยนี, เล่ม 1, หน้า 494, หะดีษที่ 4

(4) ตุหะฟุลอุกูล, ฮะซัน บินอะลี บินชุอ์บะฮ์,หน้า 455

(5) อัลมะซารุลกะบีร, มุฮัมมัด บินญะอ์ฟัร บินมัชฮะดี, หน้า 574

(6) อัลคอรออิจ วัลญะรออิห์,ซะอีด บินฮิบะตุลลอฮ์ กุฏุบ รอวันดี, เล่ม 1, หน้า 383, หะดีษที่ 11

(7) อัลกุรอานบทอัลหะดิดีด โองการที่ 23


บทความ : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

Copyright © 2024 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่

ผู้เยี่ยมชมอยู่ขณะนี้

มี 759 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์

10252569
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
58749
74139
273414
9524455
58749
2045354
10252569

พ 01 พ.ค. 2024 :: 16:38:40