อิมามฮุเซน (อ.) แบบอย่างการดำเนินชีวิต (11) บรรทัดฐานการมีเกียรติศักดิ์ศรีในแนวคิดของอิมามฮุเซน
Powered by OrdaSoft!
No result.

อิมามฮุเซน (อ.) แบบอย่างการดำเนินชีวิต (11) บรรทัดฐานการมีเกียรติศักดิ์ศรี ในแนวคิดของอิมามฮุเซน

ความมีเกียรติศักดิ์ศรีทางด้านวัฒนธรรมในคำพูดของท่านอิมามฮุเซน (อ.) “อิซซะฮ์” (เกียรติศักดิ์ศรี) และ “ซิลละฮ์” (ความต่ำต้อยไร้เกียรติ) คือคำสองคำที่มีความหมายตรงข้ามกัน มนุษย์จะรู้สึกมีความสุขและพึงพอใจจากคำว่า “อิซซะฮ์” (เกียรติศักดิ์ศรี) และความหมาย (มัฟฮูม) ของมัน และมีความมุ่งหวังที่ตนเองจะเป็นผู้ที่มีเกียรติศักดิ์ศรีในครอบครัว ในสังคมและในโลกนี้ ในทางตรงกันข้าม เมื่อได้ยินคำว่า “ซิลละฮ์” (ความต่ำต้อยไร้เกียรติ) ความเข้าใจในความหมายของมัน เขาจะรู้สึกหวั่นกลัวต่อการที่วันหนึ่งเขาจะต้องประสบกับชะตากรรมเช่นนี้

ความหมายและคุณค่าของคำว่า “เกียรติศักดิ์ศรี”

      “อิซซะฮ์” (เกียรติศักดิ์ศรี) คือสภาพทางจิตใจประการหนึ่งของมนุษย์ ซึ่งจะเป็นเกราะป้องกันเขาจากความพ่ายแพ้ (1) ในอีกสำนวนหนึ่งหมายถึง ความรู้สึกถึงความเหนือกว่าและไม่สามารถทำลายได้ (2)

       ดังนั้นคำว่า “อิซซะฮ์” (เกียรติศักดิ์ศรี) มีความหมายของ ชัยชนะ การพิชิตและความเหนือกว่าแฝงอยู่ด้วย เพียงแต่ว่าหากความมีเกียรติศักดิ์ศรีนี้เป็นสิ่งที่มีติดกายมาด้วยตัวเองตั้งแต่เกิด ดังเช่นที่มีอยู่ในพระผู้เป็นเจ้า ก็จะเป็นพลังอำนาจที่ปราศจากคู่แข่ง และบรรดาเอาลิยาอุลลอฮ์ (ปวงผู้ใกล้ชิดพระผู้เป็นเจ้า) นั้น พวกเขาจะได้รับพลังอำนาจเหล่านี้ขึ้นอยู่กับระดับความสัมพันธ์ของพวกเขาที่มีต่อพระผู้เป็นเจ้า

       คำว่า “อิซซะฮ์” (เกียรติศักดิ์ศรี) และ “อะซีซ” (ผู้มีอำนาจ ผู้มีเกียรติศักดิ์ศรี) ถูกนำมาใช้งานในคัมภีร์อัลกุรอานมากกว่า 112 ครั้ง แต่พระผู้เป็นเจ้าทรงตรัสไว้อย่างชัดเจนว่า

فَإِنَّ الْعِزَّةَ لِلَّهِ جَمِيعًا

“แท้จริงเกียรติศักดิ์ศรีทั้งมวลนั้นเป็นของอัลลอฮ์เพียงเท่านั้น”

(อัลกุรอานบทอันนิซาอ์ โองการที่ 139)

       ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเกียรติศักดิ์ศรีทั้งมวลนั้นอยู่ ณ พระผู้เป็นเจ้า หากบุคคลอื่นๆ จะได้รับความโปรดปราน (เนี๊ยะอ์มัต) ดังกล่าวนี้ ก็เนื่องมาจากความสัมพันธ์ที่พวกเขามีต่อพระผู้เป็นเจ้า

       ด้วยเหตุนี้ท่านอิมามฮุเซน (อ.) จึงถือว่า “อิซซะฮ์” (ความมีเกียรติศักดิ์ศรี) อยู่ในการผูกสัมพันธ์ต่อพระผู้เป็นเจ้าเพียงเท่านั้น บางส่วนของดุอาอ์อะรอฟะฮ์ ท่านกล่าวเช่นนี้ว่า

أَنْتَ الَّذي أَعْزَزْتَ

“(ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า) พระองค์ คือผู้ซึ่งทรงให้เกียรติศักดิ์ศรี” (3)

وَذَلِيْلاً فَأَعَزَّنِيْ

“และข้าพระองค์เป็นผู้ต่ำต้อยไร้เกียรติ แล้วพระองค์ทรงทำให้ข้าพระองค์มีเกียรติศักดิ์ศรี” (4)

فَأولِیَائُه بعزّتِه یَعْتَزّوْنَ

“ดังนั้นผู้ที่ใกล้ชิดพระองค์จะได้รับเกียรติศักดิ์ศรี ด้วยเกียรติศักดิ์ศรีของพระองค์” (5)

        “อิซซะฮ์” (ความมีเกียรติศักดิ์ศรี) ในแนวคิดของท่านอิมามฮุเซน (อ.) คือเป้าหมายประการหนึ่งซึ่งการได้รับมันมานั้นมีคุณค่าสูงส่ง แม้จะต้องแลกด้วยกับการสละชีวิตและการพลีทุกสิ่งทุกอย่างในหนทางของมัน ซึ่งท่านได้กล่าวว่า

لَیْسَ شَأْنِی‌ شَأْنَ مَنْ یَخَافُ الْمَوْتَ. مَا أَهْوَنَ الْمَوْتَ عَلَی‌ سَبِیلِ نَیْلِ الْعِزِّ وَإحْیَآءِ الْحَقِّ.

لَیْسَ الْمَوْتُ فِی‌ سَبِیلِ الْعِزِّ إلَّا حَیَاةً خَالِدَةً؛ وَلَیْسَتِ الْحَیَاةُ مَعَ الذُّلِّ إلَّا الْمَوْتَ الَّذِی‌ لَا حَیَاةَ مَعَهُ

“สถานะของฉันไม่ใช่สถานะของผู้ที่กลัวความตาย ความตายในหนทางที่บรรลุสู่ความมีเกียรติศักดิ์ศรีและการให้ชีวิตใหม่ (และฟื้นฟู) สัจธรรมนั้น ช่างเป็นสิ่งง่ายดายเสียนี่กระไร! ความตายในหนทางของเกียรติศักดิ์ศรีนั้นไม่ใช่อื่นใด นอกจากมันคือชีวิตอันเป็นนิรันดร์ และการมีชีวิตอยู่กับความต่ำต้อยไร้เกียรตินั้นไม่ใช่อื่นใด นอกจากว่ามันคือความตาย ที่ปราศจากชีวิตใดๆ สำหรับมัน” (6)

       ในอีกคำพูดหนึ่ง ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้อธิบายถึงการลงทุนเพื่อให้บรรลุถึงเกียรติศักดิ์ศรีไว้เช่นนี้ว่า

موتٌ في عِزٍّ خَيرٌ مِن حَياةٍ في ذُلٍّ

“ความตายในหนทางของเกียรติศักดิ์ศรีนั้น ย่อมดีงามกว่าการมีชีวิตอยู่ในความต่ำต้อยไร้เกียรติ” (7)

ความมีเกียรติศักดิ์ศรีทางด้านวัฒนธรรมในคำพูดของท่านอิมามฮุเซน (อ.)

       สังคมอิสลามคือสังคมที่ก่อรูปขึ้นบนรากฐานของกระบวนการคิดและแนวคิดทางศาสนาอันเกิดจากความเชื่อที่มีต่อเตาฮีด (เอกานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า) ในทุกมิติ และในด้านการปฏิบัตินั้นขึ้นอยู่กับกระบวนของคุณค่าและหลักการต่างๆ ที่มีผลพวงมาจากกระบวนการทางความเชื่อและความศรัทธาดังกล่าว ส่วนใหญ่ของเหตุผลความแตกต่างของสังคมทางศาสนากับสังคมที่ไม่ใช่ศาสนานั้นขึ้นอยู่กับมารยาท ขนบธรรมเนียมประเพณีและวิถีปฏิบัติของบุคคลในสังคมที่มีต่อตัวเองและบุคคลอื่นๆ หรือกล่าวโดยสรุปในคำพูดประโยคเดียวก็คือ ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมของสังคมนั้นๆ โดยหากวัฒนธรรมของศาสนาถูกลบเลือนออกไปจากสังคม และวัฒนธรรมที่ไม่ใช่ศาสนาเข้ามาแทนที่ พฤติกรรมและวิถีปฏิบัติของประชาชนในสังคม ก็ไม่อาจนับได้ว่าสังคมดังกล่าวเป็นสังคมทางศาสนาได้ แม้สมาชิกทั้งหมดของสังคมจะคิดว่าตนเองเป็นผู้มีศาสนาก็ตาม

       การยึดมั่นในวัฒนธรรมทางศาสนาหรือการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมนั้น มิได้เป็นประเด็นที่เกิดขึ้นในยุคของท่านอิมามฮุเซน (อ.) หรือเป็นประเด็นที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและในอนาคตของสังคมของเราเพียงเท่านั้น ทว่าความขัดแย้งขั้นพื้นฐานระหว่างท่านศาสดาของอิสลาม (ซ็อลฯ) กับฝ่ายตรงข้ามของท่านก็เกี่ยวข้องกับประเด็นเหล่านี้เช่นกัน

       1. การพิทักษ์ปกป้องศาสนา : บนพื้นฐานของโองการอัลกุรอานและคำรายงาน (ริวายะฮ์) ต่างๆ นั้น เป็นหน้าที่ของมุสลิมทุกคนที่จะต้องยืนหยัดอย่างมั่นคงทางด้านแนวคิดและการปฏิบัติตามบทบัญญัติต่างๆ ของศาสนาและแบบฉบับ (ซุนนะฮ์) ของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) และจะต้องใช้ความพยายามทั้งหมดไปในการส่งเสริมและการแพร่กระจายแนวคิดนี้ ทั้งนี้เนื่องจากการแพร่กระจายของศาสนาและการยึดมั่นต่อมันนั้นคือข้อจำแนกที่สำคัญและชัดเจนประการหนึ่งของสังคมแห่งศาสนา ดังเช่นท่านอิมามฮุเซน (อ.) ที่ท่านถือว่าการพิทักษ์ปกป้องศาสนาคือหน้าที่และเป็นบ่อเกิดของเกียรติศักดิ์ศรีของชาวมุสลิม

         มาพิจารณาคำพูดของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ในช่วงเวลาท้ายๆ ของการมีชีวิตของท่าน (ช่วงเวลาหลังนมาซบ่ายในวันอาชูรอ) ซึ่งท่านกล่าวว่า

یا کِرامُ هذِهِ الْجَنَّةُ فُتِحَتْ اَبْوابُها وَ اتَّصَلَتْ اَنْهارُها وَاینََعَتْ ثِمارُها وَ هَذا رَسُولُ اللَّهِ

وَ الشُّهَداءُ الَّذینَ قُتِلوُا فى سَبیلِ اللَّهِ یَتَوَقَّعُونَ قُدُومَکُمْ وَ یَتَباشَروُنَ بِکُمْ فَحاموُا عَنْ دینِ اللَّهِ وَ دینِ نَبیّهِ وَ ذُبُّوا عَنْ حَرَمِ الرَّسُولِ

“โอ้ปวงผู้มีเกียรติ! นี่คือสวรรค์ที่ประตูทั้งหลายของมันถูกเปิดแล้ว ธารน้ำทั้งหลายของมันได้เชื่อมติดต่อกัน และผลไม้ต่างๆ ของมันช่างหอมหวาน และนี่คือท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) และบรรดาชะฮีดผู้ซึ่งถูกฆ่าในหนทางของอัลลอฮ์ พวกเขากำลังรอคอยการมาของพวกท่าน และพวกเขาต่างแจ้งข่าวดีต่อกันเกี่ยวกับการมาของพวกท่าน ดังนั้นพวกท่านจงปกป้องศาสนาของอัลลอฮ์และศาสนาของศาสดาของพระองค์เถิด และจงพิทักษ์ปกป้องสิ่งหวงแหน (ครอบครัว) ของท่านศาสนทูตเถิด” (8)

        การพิทักษ์ปกป้องศาสนานั้น อันดับแรกคือ การยอมรับมันในเชิงความคิดและการยึดมั่นต่อมันในทางวาจาและการปฏิบัติ ในอันดับถัดไปคือ การประกาศและการเผยแพร่แนวความคิดต่างๆ ทางด้านศาสนา และในด้านของการเมืองนั้นคือ ความอุตสาห์พยายามเพื่อที่จะสถาปนาอำนาจการปกครองของธรรมนูญต่างๆ แห่งศาสนา ในโครงสร้างของการบริหาร นิติบัญญัติและตุลาการ

        2. การปกป้องอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) : บนพื้นฐานของฮะดีษอัษษะกอลัยน์และคำรายงาน (ริวายะฮ์) อื่นๆ ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) เพื่อที่จะชี้นำมนุษยชาติไปสู่พระผู้เป็นเจ้า และเป็นไปตามคำบัญชาของพระผู้เป็นเจ้า ภายหลังจากที่ท่านได้ละทิ้งคัมภีร์อัลกุรอานและอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) ของท่านไว้เป็นอะมานะฮ์ (ความไว้วางใจ) ในหมู่ประชาชนของท่าน อะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) อยู่ในฐานะผู้อรรถาธิบายคัมภีร์ของพระองค์ ที่ได้รับมรดกความรู้มาจากท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) และในคัมภีร์อัลกุรอาน พระผู้เป็นเจ้าทรงถือว่าความรักในครอบครัวของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) นั้นอยู่ในฐานะรางวัลตอบแทนของการประกาศสาส์น (ริซาละฮ์) ของท่านศาสดา โดยที่พระองค์ได้ทรงตรัสว่า

قُل لَّا أَسْأَلُكُمْ عَلَيْهِ أَجْرًا إِلَّا الْمَوَدَّةَ فِي الْقُرْبَىٰ ۗ

“จงกล่าวเถิด (โอ้มุฮัมมัด) ฉันไม่ได้ขอรางวัลตอบแทนใดๆ ในการประกาศศาสนานี้ นอกจากให้มีความรักในเครือญาติใกล้ชิด (ของฉัน)”

(อัลกุรอานบทอัชชูรอ โองการที่ 23)

        ในคำรายงานจำนวนมากที่ถูกรายงานไว้ทั้งจากฝ่ายชีอะฮ์และฝ่ายซุนนี่ การแสดงความรักต่ออะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) ของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) การปกป้องพวกท่านและความพยายามในการขจัดปัญหาต่างๆ ของพวกท่านนั้นถูกเน้นย้ำไว้อย่างมาก ซึ่งเราจะขอชี้ถึงบางส่วนเพื่อเป็นตัวอย่างไว้ในที่นี้

        ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้กล่าวว่า

أَرْبَعَةٌ أَنَا لَهُمْ شَفِیعٌ یَوْمَ الْقِیَامَةِ الْمُکْرِمُ لِذُرِّیَّتِی مِنْ بَعْدِی وَ الْقَاضِی لَهُمْ حَوَائِجَهُمْ

وَ السَّاعِی لَهُمْ فِی أُمُورِهِمْ عِنْدَ مَا اضْطُرُّوا إِلَیْهِ وَ الْمُحِبُّ لَهُمْ بِقَلْبِهِ وَ لِسَانِهِ

“ในวันกิยามะฮ์ คนสี่กลุ่มที่ฉันจะให้การชะฟาอะฮ์ (อนุเคราะห์) แก่พวกเขา คือ ผู้ที่เคารพให้เกียรติต่อลูกหลานของฉันภายหลังจากฉัน ผู้ที่ช่วยทำให้พวกเขาบรรลุความต้องการต่างๆ ของพวกเขา ผู้ที่อุตสาห์พยายามเพื่อพวกเขาในกิจการต่างๆ ที่พวกเขามีความจำเป็นต่อมัน และผู้ที่แสดงความรักต่อพวกเขาด้วยหัวใจและวาจาของตน” (9)

       ในวันอาชูรอ ในสถานการณ์ที่หนักหน่วงที่ไม่อาจคาดหวังใดๆ ในการที่จะเอาชนะกองทัพของฝ่ายศัตรูได้นั้น ท่านอิมามฮเซน (อ.) ได้กล่าวกับบรรดาผู้ช่วยเหลือและสหายของท่านเกี่ยวกับคุณลักษณะของเกียรติศักดิ์ศรีดังกล่าวนี้ว่า

وَ ذُبُّوا عَنْ حَرَمِ الرَّسُولِ

“และพวกท่านจงพิทักษ์ปกป้องสิ่งหวงแหน (ครอบครัว) ของท่านศาสนทูตเถิด” (10)

       ในวันอาชูรอ ชาวอาชูรอได้พิทักษ์ปกป้องครอบครัวของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) และในวันนี้บรรดาผู้ที่ดำเนินตามแนวทางของท่านหญิงซัยนับ จำเป็นที่พวกเขาจะต้องพิทักษ์ปกป้องแนวทางของอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) และเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) ผู้ที่คงเหลืออยู่จากวงศ์วานของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) จะเริ่มต้นการยืนหยัดต่อสู้ของท่านในระดับโลก เพื่อผู้ที่รักในอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) ทั้งหลายจะได้ยืนหยัดเคียงบ่าเคียงไหล่กับท่าน ทำการพิทักษ์ปกป้องท่าน แนวคิดอันบริสุทธิ์ของท่าน และได้ปฏิบัติภารกิจหน้าที่ดังกล่าวนี้ของตนอย่างแท้จริง

       3. การฟื้นฟูคัมภีร์ของพระผู้เป็นเจ้า : อัลกุรอานคือคัมภีร์ที่ถูกประทานลงมาจากพระผู้เป็นเจ้า เพื่อเป็นทางนำสำหรับสังคมของมนุษยชาติ แม้ว่าการอ่านคัมภีร์อัลกุรอานด้วยการใคร่ครวญนั้น จะเป็นหน้าที่ของมุสลิมทุกคน แต่การอ่านมันเพียงอย่างเดียวนั้นไม่ใช่การฟื้นฟูและการให้ชีวิตใหม่แก่มัน การฟื้นฟูและการให้ชีวิตแก่คัมภีร์อัลกุรอาน ก็คือการที่อำนาจการปกครองในสังคมอิสลามจะต้องเป็นของคัมภีร์อัลกุรอาน แม้ว่ามุสลิมจะปฏิบัติภาระหน้าที่ต่างๆ ที่เป็นเรื่องส่วนตัวของตนเอง แต่ทว่าหากอำนาจการปกครองทางด้านการเมืองไม่ได้อยู่ในอำนาจของคัมภีร์อัลกุรอาน และคัมภีร์อัลกุรอานไม่มีบทบาทใดๆ ในโครงสร้างของอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจการบริหารและอำนาจตุลาการของประเทศแล้ว ในทัศนะของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ถือว่าสังคมเช่นนี้คัมภีร์อัลกุรอานได้ตายลงแล้ว และจำเป็นจะต้องพยายามที่จะให้ชีวิตแก่มัน ทั้งนี้เนื่องจากเกียรติศักดิ์ศรีของมุสลิมนั้น อยู่กับการทำให้คัมภีร์อัลกุรอานนั้นมีชีวิตอยู่

       4. การฟื้นฟูและการให้ชีวิตแก่ซุนนะฮ์ของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) : ซุนนะฮ์ (แบบฉบับ) ของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) หมายถึง คำพูด การกระทำ การแสดงออกและการยอมรับต่างๆ ของท่าน คือสิ่งจำเป็นที่มุสลิมจะต้องปฏิบัติตาม บรรดามุสลิมนั้นนอกจากการยึดมั่นปฏิบัติตามซุนนะฮ์ (แบบฉบับ) ของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ในทุกด้านแล้ว ยังมีหน้าที่ที่จะต้องฟื้นฟูและให้ชีวิตแก่มัน ในทัศนะของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ในสังคมอิสลาม แม้บรรดามุสลิมจะมีหน้าที่ต่างๆ ที่เป็นภาระหน้าที่ส่วนตัวที่พวกเขาจะต้องปฏิบัติตามซุนนะฮ์ (แบบฉบับ) ของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ก็ตาม แต่หากในด้านการเมือง อำนาจการปกครองไม่ได้อยู่ในอำนาจของผู้ปฏิบัติตามท่านศาสดา (ซ็อลฯ) แล้ว ท่านถือว่าในสังคมเช่นนี้ ซุนนะฮ์ (แบบฉบับ) ของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้ตายลงไปแล้ว และจำเป็นที่จะต้องใช้ความพยายามในการฟื้นฟูและให้ชีวิตใหม่แก่มัน

         ในยุคของท่านอิมามฮุเซน (อ.) เป็นไปได้ว่าบรรดามุสลิมส่วนใหญ่มีการปฏิบัติตามคัมภีร์อัลกุรอานและซุนนะฮ์ (แบบฉบับ) ของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ในหน้าที่ที่เป็นเรื่องส่วนตัว แต่ไม่ต้องสงสัยเลยว่า อำนาจการปกครองทางด้านการเมืองนั้นอยู่ในมือของบรรดาผู้ปกครองแห่งบนีอุมัยยะฮ์ ผู้ปกครองที่ได้ทำให้โครงสร้างทางการเมืองของประเทศออกห่างจากวัฒนธรรมทางศาสนา และออกห่างจากคัมภีร์ของอัลลอฮ์ (กิตาบุลลอฮ์) และซุนนะฮ์ (แบบฉบับ) ของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ในสังคมเช่นนี้ ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้ยืนหยัดต่อสู้เพื่อที่จะฟื้นฟูและให้ชีวิตใหม่แก่กิตาบุลลอฮ์และซุนนะฮ์ของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และท่านได้เรียกร้องเชิญชวนประชาชนให้ช่วยเหลือท่านในเรื่องนี้ เพื่อที่จะสามารถชี้นำสังคมไปสู่แนวทางที่ถูกต้อง ท่านทั้งหลายจงพิจารณาจดหมายฉบับหนึ่งที่ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้เขียนส่งไปยังบรรดาผู้นำเมืองบัศเราะฮ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยที่ท่านกล่าวว่า

وَقَدْ بَعَثْتُ رَسُولى اِلَيْكُمْ بِهذاالْكِتابِ وَاَنَا اَدْعُوكُمْ اِلى كِتابِ اللّه

وَسُنَّةِ نَبِيِّهِ فَاِنَّ السُّنَّةَ قَد اُميتَتْ وَالْبِدْعَةَ قَد اُحْيِيَتْ فَاِنْ تَسْمَعوا قَوْلى اَهْدِكُمْ اِلى سَبيلِ الرَّشادِ

“และแน่นอนยิ่ง ฉันได้ส่งผู้ถือสาส์นของฉันมายังพวกท่านพร้อมกับจดหมายฉบับนี้ และฉันขอเชิญชวนพวกท่านไปสู่คัมภีร์ของอัลลอฮ์และซุนนะฮ์ (แบบฉบับ) ของศาสดาของพระองค์ เพราะแท้จริงซุนนะฮ์นั้นถกทำให้ตายลง และอุตริกรรม (บิดอะฮ์) ถูกทำให้มีชีวิตขึ้นมาใหม่ ดังนั้นหากท่านทั้งหลายเชื่อฟังคำพูดของฉัน ฉันจะขอชี้นำพวกท่านไปสู่แนวทางที่ถูกต้องเที่ยงตรง” (11)

        5. การทำลายล้างอุตริกรรม (บิดอะฮ์) : คุณลักษณะที่สำคัญของสังคมแห่งอิสลาม คือการแพร่ขยายสัญลักษณ์ต่างๆ ของศาสนาในทุกด้านของสังคม ในวัฒนธรรมแห่งศาสนานั้น ผู้ที่พยายามจะทำลายศาสนาโดยอาศัยเสื้อคลุมของศาสนาถือว่าเป็น “มุนาฟิก” (คนหน้าซื่อใจคด) พวกเขาจะแพร่กระจายแนวความคิดต่างๆ ของเขาออกไปในสังคมในนามของศาสนา แต่แนวความคิดเหล่านี้ไม่มีรากฐานที่มาจากศาสนา จึงถูกเรียกว่า “บิดอะฮ์” (อุตริกรรม)

       ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ถือว่าการทำลายล้างอุตริกรรมต่างๆ นั้นเป็นหน้าที่ของมุสลิม และเป็นเครื่องหมายประการหนึ่งของเกียรติศักดิ์ศรี ท่านได้เรียกร้องทุกคนให้ช่วยเหลือท่านในการทำลายล้างอุตริกรรมทั้งหลาย ในจดหมายฉบับหนึ่งที่ท่านได้เขียนไปถึงบรรดาผู้นำของเมืองบัศเราะฮ์และเรียกร้องเชิญชวนพวกเขาให้ช่วยเหลือท่านในการยืนหยัดต่อสู้ครั้งนี้ ซึ่งท่านกล่าวว่า

امَّا بعد، فانّی ادعوكم الی احیاء معالم الحقّ و اماتة البدع،

 فان تجیبوا تهتدوا سبل الرشاد

“ภายหลังจากสลาม ฉันขอเรียกร้องเชิญชวนพวกท่านไปสู่การให้ชีวิตใหม่ต่อสัญลักษณ์ต่างๆ ของสัจธรรมและการทำลายอุตริกรรมทั้งหลาย ดังนั้นหากพวกท่านตอบรับ พวกท่านก็จะได้รับการชี้นำไปสู่แนวทางต่างๆ อันเที่ยงตรง” (12)


เชิงอรรถ :

[1] อัลมุฟร่อดาต, รอฆิบ อิสฟะฮานี, หน้าที่ 333

[2] ลิซานุ้ลอะร็อบ, เล่มที่ 5, หน้าที่ 374

[3] ดุอาอ์อะร่อฟะฮ์

[4] ดุอาอ์อะร่อฟะฮ์

[5] ดุอาอ์อะร่อฟะฮ์

[6] นะฮ์ญุชชะฮาดะฮ์, หน้าที่ 225 ; อะดะบุลฮุซัยน์ วะฮะมาซะตุฮู, หน้าที่ 169

[7] นะฮ์ญุชชะฮาดะฮ์, หน้าที่ 332 ; บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 44, หน้าที่ 192

[8] นะฮ์ญุชชะฮาดะฮ์, หน้าที่ 332 ; อิกซีรุลอิบาดาต ฟีอัซรอริชชะฮาดาต, เล่มที่ 2, หน้าที่ 266 ; อะดะบุลฮุซัยน์ วะฮะมาซะตุฮู, หน้าที่ 170

[9] บิชาร่อตุ้ลมุสฏอฟา ลิชีอะตุ้ลมุรตะฎฮ, หน้าที่ 70

[10] นะฮ์ญุชชะฮาดะฮ์, หน้าที่ 148 ; อิกซีรุลอิบาดาต ฟีอัซรอริชชะฮาดาต, เล่มที่ 2, หน้าที่ 266

[11] บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 44, หน้าที่ 340 ; นะฮ์ญุชชะฮาดะฮ์, หน้าที่ 280 ; ตารีคอัฎฎอบะรี, เล่มที่ 4, หน้าที่ 266

[12] นะฮ์ญุชชะฮาดะฮ์, หน้าที่ 276


บทความโดย : ซัยยิดมุฮัมมัด มุรตะฎอวี

แปล/เรียบเรียง : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

ผู้เยี่ยมชมอยู่ขณะนี้

มี 990 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์

10469240
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
48170
69909
490085
9524455
275420
2045354
10469240

ส 04 พ.ค. 2024 :: 20:56:47