การเวียนมาถึงของเทศกาลฮัจญ์นั้น ต้องถือว่าเป็นการเฉลิมฉลองที่ยิ่งใหญ่ของประชาชาติอิสลาม เป็นโอกาสที่ดีงามยิ่งที่วันอันทรงคุณค่าเหล่านี้ได้เกิดขึ้นกับบรรดามุสลิมทั่วโลกในทุกๆ ปี มันคือเคมีอันมหัศจรรย์ โดยที่หากรู้ถึงคุณค่าของมันและถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างถูกต้องเหมาะสมแล้ว ปัญหาและความทุกข์ยากต่างๆ มากมายในโลกอิสลามจะได้รับการเยียวยาแก้ไข
“ฮัจญ์” เป็นตาน้ำอันพรั่งพรูของพระมหากรุณาธิคุณแห่งพระผู้เป็นเจ้า ผู้แสวงบุญแต่ละท่านนั้นท่านทั้งหลายเป็นผู้โชคดี บัดนี้พวกท่านได้บรรลุถึงโอกาสอันสูงส่งนี้แล้ว ซึ่งการกระทำ (อะมั้ล) เหล่านี้ในพิธีกรรมที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความผ่องแผ้วและจิตวิญญาณนี้ บรรดา (ฮุจญาจ) ผู้แสวงบุญทั้งหลายจะได้ชำระล้างหัวใจและจิตวิญญาณครั้งใหญ่ และจะได้สะสมเสบียงสำหรับอายุขัยทั้งหมดของตนเอง จากแหล่งแห่งความเมตตา เกียรติศักดิ์ศรีและพลังอำนาจนี้ ความนบนอบและการยอมจำนนต่อพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเมตตา ความมุ่งมั่นในการรักษาหน้าที่ต่างๆ ที่ถูกมอบหมายให้เป็นภาระหน้าที่เหนือชาวมุสลิม ความมีชีวิตชีวา การเคลื่อนไหวและการดำเนินการเกี่ยวกับงานด้านศาสนาและทางโลก การแสดงความเมตตาและการให้อภัยในการปฏิสัมพันธ์กับบรรดาพี่น้อง ความกล้าหาญและความเชื่อมั่นในตัวเองในการเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ต่างๆ ที่ยากลำบาก การมีความหวังต่อการช่วยเหลือและการให้การอนุเคราะห์ของพระผู้เป็นเจ้าในทุกที่และในทุกสิ่ง
กล่าวโดยสรุปแล้ว การสร้างและพัฒนามนุษย์ในรูปแบบของความเป็นมุสลิม ในสนามแห่งการฝึกฝนและการขัดเกลาแห่งพระผู้เป็นเจ้านี้ ท่านทั้งหลายสามารถทำให้เกิดขึ้นกับตนเองและเสริมแต่งตนเองด้วยเครื่องประดับที่งดงามเหล่านี้ได้ และนำเสบียงเหล่านี้กลับไปเป็นของฝากสำหรับประเทศชาติของตัวเอง และท้ายที่สุด สำหรับประชาชาติอิสลาม
ประชาชาติมุสลิมในปัจจุบัน ต้องการบุคคลที่มีการเสริมสร้างทางความคิดและการกระทำควบคู่ไปกับความศรัทธา ความจริงใจและความบริสุทธิ์ใจ การยืนหยัดเผชิญหน้ากับเหล่าศัตรูผู้อาฆาตพยาบาท เคียงคู่ไปกับการชำระขัดเกลาจิตใจและจิตวิญญาณมากกว่าทุกสิ่ง นี่คือทางรอดเดียวของสังคมที่ยิ่งใหญ่ของมุสลิมจากปัญหาความทุกข์ยากทั้งหลาย ที่มันได้จมดิ่งลงในสิ่งเหล่านี้ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นโดยมือของศัตรูอย่างเปิดเผย หรือด้วยความอ่อนแอของเจตนารมณ์ ความศรัทธาและวิสัยทัศน์ที่มีมานับเป็นยาวนาน
การเสริมสร้างจิตวิญญาณของความเป็นพี่น้องและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน คือบทเรียนที่ยิ่งใหญ่ของพิธีฮัจญ์ ณ ที่แห่งนี้แม้แต่การโต้เถียงและการพูดจาหยาบคายต่อผู้อื่นก็เป็นที่ต้องห้าม การสวมใส่เสื้อผ้าที่เหมือนกัน การกระทำ (อะมั้ล) ต่างๆ ที่เหมือนกัน และการเคลื่อนไหวต่างๆ ที่เหมือนกัน พฤติกรรมที่แสดงออกถึงความเมตตา ณ ที่แห่งนี้ หมายถึงความเสมอภาคและภราดรภาพสำหรับทุกคนที่มีความเชื่อมั่นและมีหัวใจผูกพันต่อศูนย์กลางแห่งเตาฮีด (เอกานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า) สิ่งนี้คือการปฏิเสธที่ชัดเจนของอิสลามที่มีต่อแนวคิด ความเชื่อและการเรียกร้องเชิญชวนที่กล่าวหาว่ามุสลิมกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่มีความเชื่อมั่นต่อกะอ์บะฮ์และเตาฮีด (เอกานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า) ต้องออกจากวงจรของอิสลาม
ปรัชญาสำคัญที่สุดของฮัจญ์ คือ การเปลี่ยนแปลงทางด้านจริยธรรมที่เกิดขึ้นกับบุคคลทั้งหลาย
การครอง “อิฮ์รอม” จะนำพามนุษย์ออกจากการเสริมแต่งทางวัตถุเสื้อผ้าและเครื่องประดับเลิศหรูและการห้ามการแสวงหาความสุข เพื่อมุ่งมั่นในการชำระขัดเกลาตนเอง ซึ่งถือเป็นหน้าที่ประการหนึ่งของผู้ครองอิฮ์รอม ซึ่งจะทำให้เขาตัดขาดและหลุดพ้นจากโลกวัตถุ มุ่งหน้าสู่โลกจิตวิญญาณที่ผ่องแผ้วและเต็มเปี่ยมด้วยรัศมี บุคคลที่เคยหลงใหลและยึดติดอยู่กับเกียรติยศ ชื่อเสียงและตำแหน่งจอมปลอมทั้งหลายในสภาวะปกติ ได้หลุดพ้นออกจากสิ่งเหล่านั้น และมองเห็นตัวเองอยู่ในฐานะเท่าเทียมกัน ไม่มีความแตกต่างใดๆ จากเพื่อนมนุษย์ ภายใต้ชุดอิฮ์รอมที่ประกอบด้วยเครื่องนุ่งห่มเพียงสองชิ้นที่ไม่ผ่านการตัดเย็บ
หลังจากนั้นขั้นตอนในพิธีฮัจญ์ก็จะได้รับการปฏิบัติอย่างต่อเนื่องกัน ซึ่งจะทำให้ความผูกพันทางจิตวิญญาณของมนุษย์ที่มีต่อพระผู้เป็นเจ้าเข้มแข็งขึ้นทีละน้อยและเกิดความใกล้ชิดแน่นแฟ้นเพิ่มมากขึ้น จนสามารถตัดขาดอดีตที่มืดมนและความผิดบาปทั้งหลาย เข้าสู่อนาคตที่สดใส เต็มเปี่ยมไปด้วยรัศมีและความสะอาดบริสุทธิ์
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตระหนักถึงข้อเท็จจริงที่ว่า พิธีฮัจญ์ในทุกย่างก้าว เป็นเครื่องเตือนให้รำลึกถึงเหตุการณ์แห่งประวัติศาสตร์ของท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) “ค่อลีลุลลอฮ์” (มิตรของอัลลอฮ์) ผู้ทำลายรูปเจว็ด ท่านศาสดาอิสมาอีล (อ.) “ซะบุ้ลลอฮ์” (ผู้ถูกเชือดพลีของอัลลอฮ์) และมารดาของท่านคือท่านหญิงฮาญัร การต่อสู้เสียสละและการพลีอุทิศของพวกท่านเ ซึ่งจะเกิดจินตนาการขึ้นในสายตาและในความคิดคำนึงของมนุษย์ และการมุ่งความสนใจไปยังแผ่นดินมักกะฮ์ รวมหมายถึงมัสยิดอัลฮะรอมและบัยตุลลอฮ์ ที่เป็นสถานที่ฏอวาฟ โดยเฉพาะ ซึ่งจะเป็นเครื่องเตือนความทรงจำทางประวัติศาสตร์ เกี่ยวกับตัวท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) รวมถึงบรรดาอิมามผู้บริสุทธิ์ (อ.) และการต่อสู้ของบรรดามุสลิมในยุคแรกของอิสลาม จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านจริยธรรมอย่างลุ่มลึกยิ่งขึ้น โดยทุกตรอกซอกซอยของ มัสยิดอัลฮะรอมและแผ่นดินมักกะฮ์นั้น มนุษย์จะมองเห็นภาพของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ท่านอิมามอะลี (อ.) และบรรดาผู้นำท่านอื่นๆ และได้ยินเสียงเรียกร้องจากวีรกรรมของพวกท่าน
มีปรากฏในคำรายงานซึ่งกล่าวว่า
يَخْرُجُ مِنْ ذُنُوبِهِ كَهَيْئَتِهِ يَوْمَ وَلَدَتْهُ أُمُّهُ
“บุคคลใดก็ตามที่บำเพ็ญฮัจญ์อย่างสมบูรณ์ เขาจะออกจากความผิดบาปทั้งหลายของเขา ดังวันที่มารดาของเขาได้ให้กำเนิดเขาขึ้นมา”
(บิฮารุลอันวาร เล่มที่ 99 หน้า 26)
ดังนั้น การบำเพ็ญฮัจญ์สำหรับมวลมุสลิม เปรียบเสมือนการเกิดใหม่เป็นครั้งที่สอง การเกิดใหม่เป็นการเริ่มต้นใหม่ที่ผ่องแผ้วสำหรับมนุษย์ แต่ความจำเริญและคุณค่าทั้งหลายเหล่านี้จะไม่อาจเกิดขึ้นกับบุคคลที่การประกอบพิธีฮัจญ์แต่เพียงเปลือกนอก โดยละทิ้งเนื้อแท้ด้านในและปรัชญาที่แท้จริงของมัน คุณค่าและความจำเริญดังกล่าว จะไม่เกิดขึ้นกับบุคคลที่ยึดถือเอาการทำฮัจญ์เป็นเพียงการพักผ่อนหย่อนใจ การเดินทางท่องเที่ยว การแสดงตนโอ้อวดและการแสวงหาปัจจัยทางด้านวัตถุ โดยมิคำนึงหรือไม่มีความเข้าใจเป้าหมายและเจตนารมณ์ที่แท้จริงของฮัจญ์
กล่าวโดยสรุปแล้ว การอิบาดะฮ์อันยิ่งใหญ่นี้ หากได้รับการปฏิบัติและถูกนำมาใช้ประโยชน์ อย่างถูกต้องและครบถ้วนสมบูรณ์ ในช่วงที่บรรดาฮุจญาจพำนักอยู่ในแผ่นดินนี้ และในขณะที่หัวใจของพวกเขามีความพร้อม หากพวกเขาใช้โอกาสอันยิ่งใหญ่นี้ในการเยียวยาแก้ไขปัญหาและอุปสรรคนานัปการของสังคมอิสลาม โดยการจัดการประชุมต่างๆ ทางด้านการเมือง ด้านจริยธรรมและเศรษฐกิจขึ้นแล้ว การเคารพภักดีดังกล่าวย่อมสามารถให้การเยียวยาแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในทุกแง่มุมได้
ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้เองที่ท่านอิมามญะอ์ฟัร อัซซอดิก (อ.) กล่าวว่า
لَا يَزَالُ الدِّينُ قَائِماً مَا قَامَتِ الْكَعْبَةُ
“ศาสนาจะยังคงดำรงอยู่ ตราบเท่าที่กะอ์บะฮ์ยังคงดำรงอยู่”
(วะซาอิลุชชีอะฮ์ เล่มที่ 8 หน้า 14)
อิมามอะลี (อ.) กล่าวเช่นกันว่า
اللَّهَ اللَّهَ فِي بَيْتِ رَبِّكُمْ فَلَا يَخْلُو مِنْكُمْ مَا بَقِيتُمْ فَإِنَّهُ إِنْ تُرِكَ لَمْ تُنَاظَرُوا
“จงเกรงกลัวอัลลอฮ์ ในกรณีบ้านขององค์พระผู้อภิบาลของพวกท่าน จงอย่าปล่อยให้บ้านของพระองค์ว่างเว้นจาก (การบำเพ็ญฮัจญ์ของ) พวกท่านตราบที่พวกท่านยังมีชีวิตอยู่ เพราะแท้จริงหากมัน (การบำเพ็ญฮัจญ์ ณ บัยตุลลอฮ์) ได้ถูกละทิ้ง พวกท่านก็จะไม่ถูกประวิงเวลา”
(นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ สาส์นฉบับที่ 47)
พิธีกรรมของฮัจญ์เป็นการแสดงออกถึงการอิบาดะฮ์ (เคารพภักดี) ต่อพระผู้เป็นเจ้าที่ลึกซึ้งที่สุด และสะอาดบริสุทธิ์ที่สุด ขณะเดียวกันก็เป็นสื่อที่ทรงอิทธิพลที่สุด สำหรับการทำให้เป้าหมายทางด้านการเมืองของอิสลามบรรลุผลสำเร็จ
เป้าหมายและจิตวิญญาณของการเคารพภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้า คือการมุ่งตรงสู่พระผู้เป็นเจ้า ในขณะที่เป้าหมายและจิตวิญญาณของการเมือง คือการมุ่งความสนใจและการเอาใจใส่ต่อมวลมนุษย์ในฐานะผู้เป็นสิ่งถูกสร้างของพระผู้เป็นเจ้า และทั้งสองประการนี้ถูกผสมผสานเป็นเนื้อเดียวกันในพิธีกรรมฮัจญ์
“ฮัจญ์” คือเครื่องมือการต่อสู้และการทำลายล้างความเป็นชาตินิยม การคลั่งไคล้ในเชื้อชาติ การบูชาเผ่าพันธุ์และการกำจัดเขตแดนทางด้านภูมิศาสตร์
“ฮัจญ์” คือสื่อที่จะทำลายการควบคุม และอำนาจครอบงำของระบบที่กดขี่ต่างๆ ที่มีอำนาจปกครองอยู่เหนือประเทศอิสลามทั้งหลาย
“ฮัจญ์” คือสื่อที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารแก่กันและกันทางด้านการเมืองของประเทศอิสลาม และท้ายที่สุด
“ฮัจญ์” คือเครื่องมือที่ทรงอิทธิพลที่สุดในการทำลายโซ่ตรวนของการตกเป็นทาสและการล่าอาณานิคม และเป็นการปลดปล่อยประชาชาติมุสลิมให้เป็นอิสระ
ดังนั้น บนพื้นฐานดังกล่าวนี้ ท่านอมีรุลมุอ์มินีนอะลี อิบนิอบีฏอลิบ (อ.) ในขณะที่ท่านอธิบายปรัชญาต่างๆ ของข้อบัญญัติทางศาสนาและการอิบาดะฮ์ ท่านกล่าวถึงการบำเพ็ญฮัจญ์ว่า
الْحَجَّ تَقْوِيَةً لِلدِّينِ
“พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงบัญญัติการทำฮัจญ์ เพื่อเป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้เกิดขึ้นกับศาสนา”
(นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ สุนทโรวาทที่ 252)
ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่นักการเมืองต่างศาสนิก ผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่ง กล่าวไว้ในคำพูดที่เต็มไปด้วยความหมายของตนว่า “อนิจจา! ช่างน่าอนาถยิ่งนักสำหรับมุสลิม หากเขาไม่รู้ถึงความหมายที่แท้จริงของการทำฮัจญ์ และช่างน่าอนาถยิ่งต่อบรรดาศัตรูของพวกเขา หากได้รับรู้ถึงความหมายที่แท้จริงของฮัจญ์”
ความใสสะอาดและความบริสุทธิ์ด้านในของมนุษย์นั้น ขึ้นอยู่กับการออกห่างจากอารมณ์ใคร่ทั้งหลาย การระงับจิตใจของตนเองจากความสุขหรรษาแห่งอารมณ์ใฝ่ต่ำ การละทิ้งความสุขและสีสันที่ไร้ความยั่งยืนของชีวิตทางวัตถุแห่งโลกนี้ การทุ่มเทความพยายามและการใช้อวัยวะร่างกายทั้งหมดของตนเองไปในทิศทางของการรำลึกถึงพระผู้เป็นเจ้า “ฮัจญ์” คือการอิบาดะฮ์อย่างหนึ่งที่สามารถค้นพบสิ่งเหล่านี้ได้ “ฮัจญ์” คือผลรวมของการอิบาดะฮ์ทั้งมวล
Copyright © 2024 SAHIBZAMAN.NET- สื่อเรียนรู้สำหรับอิสระชนคนรุ่นใหม่